ผู้ชมทั้งหมด 502
บางจากฯ ลั่น ลุยก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF ปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ใน 2 ปี ตอบโจทย์ลดโลกร้อน พร้อมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนา “Book and Claim” รองรับซื้อขายSAF เคลมคาร์บอนเครดิต คาดเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือBCP เปิดเผยในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ E S G : Game Changer ESG ภายใต้หัวข้อ The Great Remake สู่โอกาสใหม่ โดยระบุว่า โลก บริโภคน้ำมันวันละ 100 ล้านบาร์เรล ขณะที่ประเทศไทย มีการบริโภคน้ำมัน อยู่ที่วันละ 1 ล้านบาร์เรล หรือ 1% ของโลก โดยปีนี้ คาดว่า โลกจะมีการบริโภคน้ำมันอยู่ที่วันละ 102 ล้านบาร์เรล เป็นการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งปัจจุบัน หลายสำนักพยากรณ์ ได้คาดการณ์การใช้น้ำมันของโลก จะถึงสุดสูงราว 20 ปีข้างหน้า รวมถึงการขนส่งทางบก และการขนส่งทางน้ำ ก็จะถึงจุดสูงสุดด้วยเช่นกัน ขณะที่การขนส่งทางอากาศ และธุรกิจปิโตรเคมีคอล ยังมีโอกาสเติบโต
ฉะนั้น มี 2 ธุรกิจที่ยังมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต และคำตอบสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันฯ คือ การขยายการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีคอล ที่มุ่งไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพ ขณะเดียวกัน บางจากฯ มองยังมีอีกหนึ่งทางเลือก คือ เครื่องบิน ซึ่งจากการพยากรณ์พบว่า ในปี ค.ศ.2070 การปล่อยมลพิษจากธุรกิจการบินจะเติบโต 5 เท่า ดังนั้น โลกพยายามคิดค้นและพัฒนาเครื่องบินให้มีน้ำหนักเบามากขึ้นเพื่อลดการปล่อยมลพิษ และการใช้ AI มาวางแผนการบินเพื่อลดการบริโภคน้ำมัน แต่สุดท้ายแล้วคำตอบที่ชัดเจน คือการหาเชื้อเพลิงอื่นที่จะนำมาใช้แทนน้ำมัน ซึ่งจากปัจจุบันนี้ไปจนถึงปี ค.ศ.2050 โลก คิดว่า ไฮโดรเจน จะเป็นคำตอบ แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยียังไม่เสถียรและต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนยังแพงกว่าน้ำมั้น 5-10 เท่า ดังนั้น ยังมีทางเลือกที่จะใช้เชื้อเพลิงไบโอแมส ซึ่งเมื่อ 15 ปีก่อน บางจากฯ มีการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาขายคืน เพื่อทำผลิตเป็น ไบโอดีเซล (บี100) นำไปผสมในน้ำมันเป็น ดีเซล บี5,บี7 และบี10 เป็นต้น
โดยการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ก็มีเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับการผลิตไบโอดีเซล คือ การนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิต ซึ่งบางจากฯ จะเปิดรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากประชาชนทั่วไป ผ่านโครงการทอดไม่ทิ้ง ในราคาลิตรละไม่ต่ำกว่า 20 บาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานฯ กำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ภายใต้งบลงทุน 10,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ซึ่งปัจจุบันเที่ยวบินในประเทศไทย ใช้น้ำมันเครื่องบิน ราววันละ 50 ล้านลิตร ขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปมีการใช้มาตรการบังคับให้ผสม SAF ลงไปในน้ำมันอากาศยานทั่วไปในสัดส่วนอย่างน้อย 2% ในปี 2568 ก็จะต้องการใช้ SAF อยู่ที่วันละ 1 ล้านลิตร ซึ่งบางจากฯจะเป็นรายแรกของประเทศที่ผลิต อีกทั้งยังช่วยลดปล่อยมลพิษได้ราวปีละกว่า 80,000 ตัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บางจากฯ จะต้องพัฒนาต่อ คือการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ ที่เรียกว่า Book and Claim คือสามารถเข้าไปใน Carbon Markets Club จะมีแอพพลิเคชั่นเพื่อแจ้งความต้องการใช้ SAF ในการทำการบิน ก็จะสามารถนำมาเคลมคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งบางจากฯ อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีข้างหน้า
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า บางจากฯ พยายามจะสร้าง ecosystem เพื่อมุ่งสู่ป้าหมาย “Net Zero” ของประเทศไทยที่กำหนดเป้าหมายปี ค.ศ. 2065 เป็นปีที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ กลุ่มบางจากฯ ซึ่งได้ประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และ Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 มุ่งมั่นร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วย แผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง ดังนี้
B: Breakthrough Performance
เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีชีพีจี เป็นต้น
C: Conserving Nature and Society
สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคม คาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจาก 2 ระบบนิเวศ ได้แก่ 1) ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) เช่นโครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศ และ 2) ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เช่น โครงการปลูกป้าชายเลนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่เกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด เป็นต้น
P: Proactive Business Growth and Transition
เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุน ใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ศึกษาเทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น Blue/Green Hydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ
N: Net Zero Ecosystem
สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น ‘Bangchak 100x Climate Action ทุกคนช่วยได้” ไปจนถึงโครงการรณรงค์ลดขยะกับลูกค้าและผู้บริโภค เช่น ‘แก้วเพาะกล้า’รักษ์ ปัน สุข’ แล: ‘ขยะกำพร้าสัญจร’ ฯลฯ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
สุดท้ายในวงการพลังงาน และกลุ่มบริษัทบางจาก ควรให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Balancing the Energy Trilemma) ได้แก่ ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) การเข้าถึงพลังงาน (Energy Affordability) และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ก็ต้องรอดูว่า รัฐบาลชุดใหม่ของไทย จะให้ความสำคัญในเรื่องใดมากที่สุดระหว่าง 3 เรื่องนี้
“ปัจจุบัน พอร์ตธุรกิจของบางจากฯ 30% เป็น Carbon Neutral แล้ว และอีก 70% เป็นเรื่องที่กำลังจะปรับปรุงอยู่ ซึ่งก็มีความตั้งใจว่า อย่างน้อยสิ้นปี ค.ศ.2030 จะมี Carbon Neutral และพอร์ตของบางจากฯจะเป็นสีเขียว 50% และอีก 50%เป็นสีเทา”