BANPU ปี 64 ผลงานโดดเด่น กำไรนิวไฮ 9.85 พันล้านบาท

ผู้ชมทั้งหมด 981 

BANPU ปี 64 กำไรนิวไฮ 9.85 พันล้านบาท มีรายได้จากการขายรวมกว่า 1.33 แสนล้านบาท เติบโตจากราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ายังมีผลการดำเนินงานที่มั่นคง พร้อมเร่งลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานรับเทรนด์อนาคต

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า ในปี 2564 มีรายได้จากการขายรวมจำนวน 4,124 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เทียบเท่า 133,190 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 304 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เทียบเท่า 9,851 ล้านบาท หรือพลิกกลับมาเป็นกำไร เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขาดทุนสุทธิ 1,786 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) นับตั้งแต่ปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 7,900 ล้านบาท เนื่องจาก 3 ธุรกิจหลักของบริษัทฯ สามารถสร้างกระแสเงินสดที่ดีอย่างต่อเนื่อง และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,778 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 216 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โดย EBITDA จากธุรกิจถ่านหินจำนวน 1,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 243 จากปีที่ผ่านมา ธุรกิจก๊าซธรรมชาติจำนวน 508 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 848 จากปีที่ผ่านมา ธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 109 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 34 จากปีที่ผ่านมา และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานจำนวน -8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้จากผลกำไรที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น เนื่องมาจากราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินที่เติบโตขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการผลิตไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่หลายๆ ประเทศผู้ส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งส่งผลต่อภาคการผลิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อการนำเข้าและส่งออกพลังงาน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดพลังงานระหว่างประเทศทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ยังคงอบู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) มีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องจากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น โดยธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย มีปริมาณขายจำนวน 20.1 ล้านตัน มีราคาขายเฉลี่ยที่ 104.16 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับราคาขายเฉลี่ยที่ 53.79 เหรียญสหรัฐต่อตันในปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีต้นทุนการผลิต 44.91 เหรียญสหรัฐต่อตัน จึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 57

เหมืองถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย มีปริมาณขายจำนวน 9.82 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเผชิญกับความท้าทายจากสภาพทางธรณีวิทยาของเหมือง Manda long และ Springvale จึงสะท้อนมาที่ต้นทุนเฉลี่ย 91.90 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน ส่วนราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 98.90 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากปีที่ผ่านมา ส่วนเหมืองถ่านหินในประเทศจีน มีส่วนแบ่งกำไรที่สูงขึ้นจำนวน 129.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากวิกฤติพลังงานถ่านหินที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ส่งผลให้ราคาถ่านหินในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นมากในระหว่างปี

สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา มีราคาขายท้องถิ่นเฉลี่ยเท่ากับ 3.61 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต (Mcf) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีราคาขายเฉลี่ย 1.86 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต เนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจส่งผลต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันต่อความต้องการจากการชะลอตัวของการพัฒนาหลุมเจาะ และมีกำลังการผลิตรวมจำนวน 246.22 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (Bcf) เพิ่มขึ้นจาการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เน็ตต์เต็มปี

ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Energy Generation) มีผลการดำเนินงานที่มั่นคงและสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง โดยโรงไฟฟ้าหงสา (HPC) ในสปป.ลาว มีส่วนแบ่งกำไรจำนวน 113 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยผลิตที่ 1 และ 3 มีค่าความพร้อมจ่าย หรือ EAF ที่ร้อยละ 85 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) มีส่วนแบ่งกำไรจำนวน 6.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ได้เดินเครื่องทั้ง 2 หน่วยการผลิตเพื่อจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบสายไฟฟ้าหลักของประเทศแล้ว โดยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นจึงค่อยๆ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนถ่านหินสูงในประเทศจีน จึงมีส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโรงไฟฟ้า Nakoso ในประเทศญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งกำไรจำนวน 6.40 ล้านเหรียญสหรัฐ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ประเทศสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1.82 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนมีรายได้ 28.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เทียบกับปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นมีเงินปันผล (TK dividend) รวม 1,129 ล้านเยน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศออสเตรเลีย มีรายได้ 3.89 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลม Vin Chau ประเทศเวียดนาม มีความคืบหน้าในการก่อสร้างร้อยละ 83 ยังคงเดินหน้าตามแผน โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 1/2565 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น คือ Kessennuma และShirakawa กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ที่เปิด COD แล้ว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 และ 16 มกราคม 2565 ตามแผน

ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) โดยบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ยังคงเดินหน้าพัฒนาสินค้า และบริการในหลายส่วนธุรกิจ อาทิเช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ขนาด 16 เมกะวัตต์ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ซึ่งมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 95 แล้ว ในส่วนของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าได้มีการพัฒนาเรือไฟฟ้าทีมีคุณภาพและความปลอดภัย มีการขยายธุรกิจการจัดการใช้พลังงาน (Energy Management systems) ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของการใช้พลังงานสะอาด

นอกจากนี้การจำหน่ายเงินลงทุนใน Sunseap Group) ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการลงทุน โดยบริษัทฯ จะนำเงินทุนที่ได้จากการจำหน่ายไปลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความเติบโตต่อไป ด้วยโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง