ผู้ชมทั้งหมด 585
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา(ปี 2556-2566) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ได้ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจากผู้ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด พร้อมขายการลงทุนจากไปเดิมมีฐานอยู่ในประเทศไทย กระจายออกไปครอบคลุม 9 ประเทศในปัจจุบัน (ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม) จากเดิมมีพนักงานราว 200-300 คน ปัจจุบัน มีพนักงานราว 6,000 คน ภายใต้วัฒนธรรมองค์กร บ้านปู ฮาร์ท (Banpu Heart) อีกทั้งยังมี หลัก ESG ที่เปรียบเสมือนเสาหลักในการดำเนินธุรกิจที่ทำให้บ้านปูสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
จากนี้ไป กลุ่มบ้านปู พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นผู้ส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต โดยได้จัดเสวนา “ส่องกระบวนยุทธธุรกิจกลุ่มบ้านปู สู่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านภายในปี 2568”
นางสมฤดี ชัยมงคล Chief Executive Officer บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บ้านปู พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานที่โดดเด่นและแนวทางในอนาคตของ 4 ธุรกิจเรือธง “ธุรกิจเหมือง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหน่วยงาน Corporate Venture Capital” ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่กำลังขับเคลื่อนบ้านปูในกระบวนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Banpu Transformation) เพื่อสร้างสรรค์พลังงานที่ยั่งยืนและโซลูชันพลังงานสะอาด ที่จะสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คน
โดย บ้านปู เข้าสู่ “การเปลี่ยนผ่านธุรกิจ” ทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากร มาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่การเริ่มเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนการลงทุนและกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปูที่แข็งแกร่ง สามารถผสานพลังร่วมเพื่อถ่ายทอด ต่อยอด แบ่งปันองค์ความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรระหว่างกัน
“นับจากนี้ สู่เป้าหมายในปี 2568 เราจะเห็นการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงาน ในขณะเดียวกัน บ้านปูยังคงนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานสะอาดใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งตามงบลงทุนถึงปี2568 บ้านปู จะใช้เงินราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
นายจามร จ่าเมือง Senior Vice President – Mine Engineering and Development เปิดเผยว่า ธุรกิจเหมือง ปัจจุบันไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม แต่มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดเพื่อต่อยอดธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter และการพัฒนาการดำเนินงานในสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic Minerals มุ่งเน้นแร่แห่งอนาคตที่จะเป็นทรัพยากรต้นทางของโซลูชันพลังงานสะอาด
นายฐิติ เมฆวิชัย Head of Oil and Gas Business กล่าวว่า ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศยุทธศาสตร์ โดยปัจจุบันบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกในสหรัฐฯ ด้วยกำลังผลิตประมาณ 890 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน (MMcfepd) เป้าหมายในอนาคตคือการขยายพอร์ตธุรกิจทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ ตั้งแต่แหล่งก๊าซ ระบบแยก อัดก๊าซ จนถึงท่อขนส่งก๊าซ คู่ขนานไปกับการเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่) โครงการ Cotton Cove (คอตตอน โคฟ) และโครงการ “High West (ไฮเวสต์)”
รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี ค.ศ. 2025 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายในทศวรรษ 2030
“เรามีปเหมายจะลดปล่อยคาร์บอน 15-16 ล้านตันต่อปี แต่จากโครงการที่มีอยู่ในมือราว 30 ล้านตัน ก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลได้”
นายกิรณ ลิมปพยอม Head of Power Business กล่าวว่า ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ล่าสุด เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส เป็นการสร้างคุณค่าจากการผสานพลัง (Synergistic Value) กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่มีอยู่เดิม เสริมความแกร่งให้กับ
ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจของบ้านปูในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบ้านปูมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยวางเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ Head of Renewable and Energy Technology Business กล่าวว่า ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เน้นขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นำเอาดิจิทัลโซลูชันมาผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และขยายการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ ๆ โดยวางเป้าหมายปี 2568 ดังนี้ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) ตั้งเป้ากำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & ESS Solutions) ตั้งเป้ากำลังผลิต 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง
ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) จำนวน 60 โครงการ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ตั้งเป้ากำลังซื้อขายไฟฟ้า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ตั้งเป้าขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) ทั้งบริการ Ride Sharing, Car Sharing, EV Charger Management และ EV Fleet Management โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ
นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ Head of Corporate Venture Capital กล่าวว่า ธุรกิจ New S-Curve ที่จะช่วยเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู โดยบ้านปู ได้จัดตั้ง หน่วยงาน Corporate Venture Capital เพื่อดูแลการลงทุน ที่จะเน้นการผสานคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Synergistic Value) ให้น้ำหนักกับการเลือกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาได้ลงทุนในกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุน Warburg Pincus ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ (Banpu NEXT) ในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดในต่างประเทศ กองทุน Heyokha Makha ที่จะส่งเสริมการทำโครงการเหมืองแร่แห่งอนาคต และกองทุน Smart City ของ Eurazeo ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด ยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในสตาร์ทอัพ AirCarbon Exchange (ACX) แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในระดับโลก