ผู้ชมทั้งหมด 105
AOT ประชุมสุดยอดผู้นำการบินโลก เปิดศักยภาพท่าอากาศยานไทย โชว์แผนแม่บท “สุวรรณภูมิ”ขยายรับ 150 ล้านคน มุ่งสู่เป้าศูนย์กลางการบินภูมิภาค คาดปี 68 เวียนนา-มิลาน- ซอลต์เลก เข้าร่วม Sister Airport ดึงเที่ยวบิน-ผู้โดยสารเข้าไทยเพิ่ม
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2024 ภายใต้หัวข้อหลัก “Embracing the Next Chapter in Aviation Industry” (ก้าวสู่บทใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2567
โดยมี นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT Mr. Tao Ma ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และ Mr.Stefano Baronci ผู้อำนวยการสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airport Council International : ACI) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของท่าอากาศยานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement : SAA) กับ AOT 18 แห่ง และผู้บริหาร ICAO) สภาสมาคม ACI และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ตลอดจนสายการบิน หน่วยราชการ ผู้บริหารและพนักงาน AOT เข้าร่วม
พลตำรวจเอก วิสนุ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ซึ่งจัดติดต่อกันมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารระดับสูงของ Sister Airport ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ มุมมองด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยานจากท่าอากาศยานระหว่างประเทศชั้นนำ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ ในการนำมาบริหารท่าอากาศยานให้เป็นเลิศ ตลอดจนความท้าทายในอนาคตที่จะร่วมมือกันบริหารสนามบินให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัย ที่สำคัญจะได้ร่วมมือกันทำงานเชิงบูรณาการ เพื่อยกระดับการดำเนินงานและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินด้วยความยั่งยืน
นายกีรติ กล่าวว่า ท่าอากาศยานภายใต้เครือข่าย SAA ล้วนเป็นท่าอากาศยานชั้นนําระดับโลกที่ประสบความสําเร็จ จึงได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Sharing Best Practice) และขยายการบินร่วมกันให้มากขึ้น โดยได้มีการแชร์ข้อมูลร่วมกันเกี่ยวกับการให้บริการผู้โดยสาร เช่น ระบบบริหาร ไอที ระบบการเงิน ระยะเวลาและกระบวนการในการเช็คอิน และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสนามบินภายใต้การดูแลของ AOT ทั้ง 6 แห่ง ให้มีความทัดเทียมกับสนามบินชั้นนำของโลก
นายกีรติ กล่าวอีว่า ถือได้ว่ากลุ่ม Sister Airport กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และ AOT ก็จะเพิ่มโอกาสในการขยายพันธมิตรทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย คาดว่าภายในปี 2568 AOT จะมีความร่วมมือ SAA กับสนามบินขนาดใหญ่เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงาน เช่น เวียนนา แอรพอร์ต ,มิลาน แอร์พอร์ต และซอลต์เลก แอร์พอร์ต ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของ AOT ในการขยายความร่วมมือ เพื่อทำให้เที่ยวบินจากยุโรปและอเมริกามาไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย
นายกีรติ กล่าวว่า ACI ได้มุ่งเน้นประเด็นการรองรับการกลับมาของผู้โดยสาร และปัญหาที่สนามบินต้องเจอในปัจจุบัน ทั้งกรณีค่าตั๋วโดยสารที่ค่อนข้างแพงขั้น ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องหารือร่วมกับสายการบิน เพื่อให้ค่าตั๋วโดยสารกลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงคุณภาพการให้บริการ และความพึงพอใจของผู้โดยสาร ขณะที่ ICAO ได้ให้ความสนใจเทรนด์การกลับมาของผู้โดยสารว่าในปี 2567 ประมาณ 90 ประเทศทั่วโลกมีปริมาณผู้โดยสารที่สูงขึ้นหรือเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว จึงมองว่าปริมาณผู้โดยสารกลับสู่ภาวะปกติแล้วคาดว่าผู้โดยสารในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ICAO ยังมองเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable aviation fuels) หรือ SAF รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มาใช้กับอาคารผู้โดยสาร เพื่อทำให้อุตสาหกรรมการบินไปสู่ Net Zero ภายใน 2 ปีนี้
ทั้งนี้ AOT ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นต้นแบบ Green Airport ท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานสะอาดมาผลิตพลังงานไฟฟ้า 37.81 เมกะวัตต์ และสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 555,686.271 tCO2e ตลอดอายุโครงการ 20 ปี สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้มากถึง 25%
ส่วนการใช้ SAF นั้นขณะนี้ AOT ได้จัดตั้งบริษัทลูกขั้นมาดำเนินงานแล้ว และตั้งเป้าหมายว่า เครื่องบินที่ออกจากทสภ.จะใช้ SAF เป็นส่วนผสม 1% ในปี 2569 และ-ขยายเป็น 4%.ในปี 2573 พร้อมกันนี้ AOT ยังมีนโยบายเปลี่ยนรถในสนามบินทั้งหมดเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมให้ใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสาร ตลอดจนการติดตั้งสถานี EV Charge สำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าอีกด้วย
นายกีรติ กล่าวว่า AOT ได้วางแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางการบินภูมิภาคและผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกนั้น ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้เร่งรัดแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี
ปัจจุบัน AOT ได้เปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 2568 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ควบคู่ไปกับโครงการขยายขีดความสามารถของสนามบินอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านคนต่อปี โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 70 ล้านคนต่อปี และก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร VIP แยกออกจากอาคารผู้โดยสารหลังหลัก ซึ่งส่วนนี้จะมีค่าบริการเพิ่มขึ้น แต่เป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความเป็นส่วนตัวที่ต้องการความสะดวกสาบมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับได้สูงสุดที่ 50 ล้านคนต่อปี เพื่อเป็นสนามบินหลักรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟสายสีแดงโดยตรง พื้นที่จอดรถยนต์ พื้นที่สันทนาการ พื้นที่พาณิชย์อื่นๆ เพื่อยกระดับการให้บริการของ ทดม. โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ควบคู่ไปกับการศึกษาแผนก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่เพื่อยกระดับศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศไทย อาทิ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา และแผนศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่จอดอากาศยานขึ้น-ลงในทะเลรองรับผู้โดยสารชั้นสูงอีกด้วย
ปัจจุบัน AOT ได้จัดทํา SAA กับองค์กรบริหารท่าอากาศยานระหว่างประเทศ จํานวน 14 แห่ง มีท่าอากาศยานระหว่างประเทศภายใต้ SAA จํานวน 18 ท่าอากาศยาน ประกอบด้วย ท่าอากาศยานมิวนิก ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง ท่าอากาศยานเนปยีดอร์ ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ ท่าอากาศยานโอซาก้า (อิตามิ) ท่าอากาศยานนานาชาติเติน เซื้น เญิ้ต ท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย ท่าอากาศยานนานาชาติดานัง ท่าอากาศยานนานาชาติฟู้โกว๊ก ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง ท่าอากาศยานลีแอช ท่าอากาศยานนานาชาติ โออาร์ แทมโบ ท่าอากาศยานอิสตันบูล และท่าอากาศยานไลพ์ซิก/ฮัลเล่