ผู้ชมทั้งหมด 1,003
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ให้ความสำคัญในการพัฒนาท่าอากาศยานสู่การเป็นต้นแบบ Green Airport หรือท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) แล้วยังได้นำร่องแท็กซี่ไฟฟ้า (EV) บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยในปี 2567 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งเป้า 1,000 คัน พร้อมตั้งเป้าขยาย เปลี่ยนเป็นรถ EV ทั้งระบบภายในปี 2568
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า AOT ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งขับเคลื่อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสู่การเป็นต้นแบบ Green Airport หรือท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย จึงได้นำร่องการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ (EV Taxi) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในล็อตแรกจะมีรถยนต์ EV Taxi ให้บริการจำนวน 100 คัน และตั้งเป้าจะให้มีรถยนต์ EV Taxi บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2567 ให้ได้ 1,000 คัน ซึ่งมั่นใจว่าผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่เป็นเชื้อเพลิงน้ำมัน LPG และ NGV จะหันมาใช้ EV Taxi เนื่องจากมีต้นทุนเชื้อเพลิง และค่าเช่ารถที่ถูกลงก็จะเป็นการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่เชื้อเพลิงน้ำมัน LPG และ NGV หันมาเปลี่ยนใช้ EV Taxi มากขึ้น
“ปัจจุบันมีเที่ยวบินมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกว่า 1,000 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารมากถึง 2 แสนคนต่อวัน ตัวเลขเติบโตขุ้นเรื่อยๆ ขณะที่รถแท็กซี่ที่ให้บริการมีอยู่ราว 3,000 คัน คาดว่าจากนี้รถแท็กซี่ที่ให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเพิ่มขึ้นถึง 4,000 – 5,000 คัน เติบโตตามผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในจำนวนนี้ทาง AOT ก็มีเป้าหมายจะให้เปลี่ยนมาใช้ EV Taxi ทั้งหมด” ดร.กีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการให้บริการรถยนต์ EV Taxi นั้น ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เริ่มให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV Taxi เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองการให้บริการรถยนต์ EV Taxi AOT ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สายโดยการอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge) ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 40 kW ต่อเครื่อง จำนวน 16 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ พร้อมกันนี้ AOT ยังมีโครงการติดตั้ง EV Charging Station ทั้งในพื้นที่ Airside, Landside และ Custom Free Zone รวม 7 จุด เพื่อรองรับแนวโน้มที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมในวงกว้าง ตามทิศทางที่ทั่วโลกหันมาสนใจการใช้ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดอีกด้วย
นายกีรติ กล่าวว่า การจะยกระดับให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้นแบบ Green Airport นั้นยังมีเป้าหมายในการเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรถบริการในสนามบิน รถตู้ รถบัส รถเมล์ขสมก. มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2568 ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เป็นรถไฟฟ้า (EV) ได้ จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี
ส่วนการนำร่องการให้บริการยานยนต์ EV Taxi ในอีก 5 ท่าอากาศยานของ AOT ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ก็จะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งในท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ก็เริ่มนำร่องใช้บ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม AOT ตั้งเป้าจะให้บริการยานยนต์ EV Taxi ให้ครบทุกท่าอากาศยานของ AOT ภายในปี 2567