ผู้ชมทั้งหมด 31
หากจะพูดถึงสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ชางงี” สนามบินของประเทศสิงคโปร์ ยืนหนึ่งติดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี จากการจัดอันดับของสกายแทร็กซ์ (Skytrax World Airport Awards ) และยังได้รับการยกย่องให้เป็นสนามบินสีเขียวชั้นนำของโลก เพราะมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสร้างประสบการณ์ให้กับผู้โดยสาร
AOT ประสานความร่วมมือสนามบินชางงี
ด้านเป้าหมายสำคัญของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ที่ต้องการพัฒนาท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ( ทสภ.) ให้ติด 1 ใน 20 อันดับแรกของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปีตามนโยบายของรัฐบาล AOT จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานทั้งโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพการบริการ โดยนำสนามบินที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาเป็นแบบอย่าง ล่าสุด AOT นำโดย พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) AOT และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ AOT ได้นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรม Press Tour ประจำปี 2568 ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ พร้อมประชุมหารือเพื่อประสานความร่วมมือกันกับนายยัม คัม เวง ( Mr. Yam Kum Weng ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้บริหารระดับสูงของ Changi Airport Group (CAG)
ประสบการณ์สีเขียวสำหรับผู้โดยสารที่สนามบินชางงี
จากการเยี่ยมชมท่าอากาศยานชางงี พบว่า ได้รับการออกแบบอาคารผู้โดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ Jewel อย่างพิถีกันด้วยธีมที่เป็นเอกลักษณ์ พื้นที่สีเขียว และผังพื้นที่ที่ที่กว้างขวาง โดยเน้นพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติ “City in Nature” โดยใช้วัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน การส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อใช้ในทำอากาศยาน การเติมพื้นที่เชิงธรรมชาติ Forest Valley ไม่ว่าจะเป็น น้ำตกใหญ่ในร่มใหญ่ที่สุดในโลก (Jewel) เส้นทางรถไฟเชื่อมอาคารNature Trail การจัดสวนดอกไม้ Flower Garden การจัดสวนผีเสื้อ Butterfly Garden การจัดสนามหญ้าเด็กเล่นในร่ม (Green Field Playpark and Sky net) ไปจนถึงการผสมผสานนวัตธรรมดิจิทัลทางธรรมชาติอย่างฝนเทียม Kinetic Rain ต้นไม้โซเซียล Social Tree และน้ำตกดิจิทัล Woderfall
แผนพัฒนาท่าอากาศยานสีเขียว “สุวรรณภูมิ”
นายกีรติ กล่าวว่า AOT ได้หารือถึงแผนพัฒนาท่าอากาศยานสีเขียว (Green Airport) ร่วมกับท่าอากาศยานชางงี โดยมีแผนที่จะร่วมมือกันในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับทางการบินยุโรปที่กำหนดให้ท่าอากาศยานทั่วโลกต้องมีเชื้อเพลิง SAF ให้บริการเติมอากาศยานภายใน 3 ปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเอเชียและประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิง SAF รวมถึงแผนการใช้พลังงานสะอาดโดยการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ภายในท่าอากาศยาน โดย AOT ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีที่จะลดการใช้พลังงานช่วงกลางวันเป็นศูนย์ (Day time energy) ซึ่งปัจจุบัน ทสภ.มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับท่าอากาศยานชางงีซึ่งอยู่ที่ 35 เมกะวัตต์
สุวรรณภูมิเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ “Mega Terminal”
ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบเดียวกับ Jewel พื้นที่ติดกับท่าอากาศยานชางงีนั้น นายกีรติ บอกว่า AOT อยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาวงเงิน 170 ล้านบาท เพื่อทบทวนแผนแม่บท ทสภ. คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี68 เบื้องต้นแผนแม่บท ทสภ.ฉบับใหม่จะมีการเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่รูปแบบ Mega Terminal ใกล้อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าที่ไม่ได้เป็นร้านค้าปลอดภาษี แต่เป็นร้านค้าทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ และยังช่วยรองรับผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงสนามบิน ล่วงหน้าก่อนเวลาหลายชั่วโมง สามารถพักผ่อน และช้อปปิ้งรอได้อย่างสะดวก
มัดรวม South Terminal-SAT 2 มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) จะมัดรวมอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ( SAT-2) เข้าไว้ด้วยกันมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปี 68 และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 4 ปี น่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 74 โดยต้องการให้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้นี้มีพื้นที่รองรับด้านหน้ายาวประมาณชั้นละ 400 เมตร เพื่อลดความแออัดและยังสามารถเช็คอินได้เหมือนกันอาคารผู้โดยสารหลังหลักในปัจจุบันด้วย
ลดขั้นตอนขาออกเหลือเวลาแค่ 2 นาที
ขณะที่คุณภาพการบริการนั้น AOT ได้ดำเนินการติดตั้ง Self Check-in (Kiosk) จำนวน 250 เครื่อง ติดตั้งระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) จำนวน 40 จุด ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) 80 จุด และจะเพิ่มอีก 120 จุดในอนาคต และมีเป้าหมายจะเปิดใช้ระบบ Autogate ทั้งหมดสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ เหมือนกับสนามบินชางงี หลังจากที่ระบบดังกล่าวสามารถช่วยลดระยะเวลารอคอยผู้โดยสารขาออกให้เหลือเพียง 2 นาทีต่อคน จากเดิมใช้เวลา 30-40 นาทีต่อคน รวมถึงยังเตรียมศึกษาแผนเปิดใช้งานระบบ Early Check-in ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง สำหรับทุกสายการบินเพื่อลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในช่วงเดือน ก.พ.68
“SAT-1 สุวรรณภูมิ” 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก
ในเรื่องภูมิทัศน์ของสนามบินนั้น นายกีรติ กล่าวว่า อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024) และล่าสุด SAT-1 ยังถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัล Prix Versailles หมวดหมู่สนามบิน จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ซึ่งร่วมกับ UNESCO ซึ่งจะประกาศผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยอาคาร SAT-1 ถือว่ามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม อัตลักษณ์ การออกแบบ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร รวมทั้งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นสวนตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ อาทิ กินนร กินรี เหมราช และหงส์สา สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศอย่างมาก
คาดหวังผู้โดยสาร Transit /Transfer เพิ่มขึ้น
นายกีรติ ยังกล่าวถึงการจะเป็นฮับการบินในภูมิภาคว่า ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 เรื่อง คือ ต้องมี Slot ให้สายการบิน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้ AOT ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการเปิดใช้ทางวิ่ง(รันเวย์) เส้นที่ 3 และ อาคารผู้โดยสาร Sat-1 สำหรับผู้โดยสาร Transit และผู้โดยสารTransfer และอีกส่วนที่สำคัญมาก คือ สายการบินเพื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการดึงผู้โดยสารต่างชาติมา Transit / Transfer ที่ประเทศไทย ซึ่งการบินไทยฯ ตอบรับแล้วและกำลังเพิ่มฝูงบินตามแผนอีก 45 ลำ เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีการเชื่อมต่อเที่ยวบินกับสนามบินในหลายประเทศที่ถือเป็นประตูหลักทั่วโลกอยู่แล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิสตันบูล เป็นต้น
รวมถึงการหารือกับกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ทั้งนี้สัดส่วนผู้โดยสาร Transit / Transfer ของสุวรรณภูมิเวลานี้อยู่ที่ประมาณ 4 % ของผู้โดยสารทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าผู้โดยสาร 96% อยากมาไทยโดยตรง ไม่ได้อยากมาเพื่อเปลี่ยนเครื่อง แต่ปี 68 คาดหวังว่าผู้โดยสาร Transit / Transfer จะเพิ่มเป็น 5% เพราะการจะเป็นฮับภูมิภาคได้ต้องมีผู้โดยสารTransit / Transfer อย่างน้อย 20% ซึ่งตัวเลข Transit / Transfer ของสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 40 %
ตั้งเป้ารองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคนต่อปี
ท้ายที่สุดเป้าหมายสำคัญ AOT คือการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพ ต้องมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี และไปสู่เป้าหมายการเป็น 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีสุดในโลก ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีแผนจะขยายโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 15 ล้านคนต่อปี ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปี
หากรวมกับขีดความสามารถในปัจจุบันจะทำให้ ทสภ.รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ระหว่างแผนพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี เมื่อรวมกันกับ ทสภ.แล้วจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี ด้วยความมั่งมุ่นตั้งใจของ AOT ที่จะพัฒนาท่าอากาศยานไทยให้เทียบเท่าสนามบินที่มีชื่อเสียงระดับโลกเชื่อว่าอีกไม่นานท่าอากาศยานไทยคงผงาดขึ้นสู่”ฮับการบิน”ในภูมิภาคตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน