AOT ชี้แจงแก้ปัญหา “สุวรรณภูมิ” แออัดคับคั่ง พร้อมรองรับการฟื้นตัวการเดินทาง

ผู้ชมทั้งหมด 522 

AOT ชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่ง และการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมรองรับการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 พาดพิงปัญหาความแออัดคับคั่ง ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการรองรับนักท่องเที่ยว นั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ชี้แจงการดำเนินการ เพื่อรองรับนโยบายการเปิดประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศของจีน ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้คลี่คลายลง ส่งผลให้มีปริมาณการเดินทางทางอากาศของประชาชน และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานด้านการบิน ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสาร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน (Peak Hour) โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสาร ณ ทสภ. พร้อมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหา ซึ่งในส่วนของ ทสภ.ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ รวมถึงได้เปิดให้บริการจุดเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Check-In: CUSS) และจุดโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 อาคาร  ผู้โดยสาร ทสภ.เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่งบริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน

ตามนโยบายรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานมีความพร้อมทั้งมาตรการให้บริการจราจรทางอากาศและการให้บริการภาคพื้น เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยจากข้อมูลปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของ AOT (ตั้งแต่วันที่ 8 – 31 มกราคม 2566) AOT มีเที่ยวบินในภาพรวม จำนวน 43,300 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 1,800 เที่ยวบิน/วัน และผู้โดยสารในภาพรวม 6.89 ล้านคน หรือเฉลี่ย 287,000 คน/วัน โดยเป็นเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 25,690 เที่ยวบิน และผู้โดยสารจำนวน 4.3 ล้านคน ซึ่ง AOT มีเที่ยวบินเส้นทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2,000 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 80 เที่ยวบิน/วัน โดยมีผู้โดยสาร จำนวน 255,000 คน หรือเฉลี่ย 11,000 คน/วัน ซึ่งเป็นเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1,126 เที่ยวบิน และผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก จำนวน 238,374 คน

ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ พบว่าในเดือนมกราคม 2566 มีปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ย 829 เที่ยวบิน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 84 แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 561 เที่ยวบิน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 139 และเที่ยวบินภายในประเทศ 268 เที่ยวบิน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 24 และมีผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออก เฉลี่ย 138,287 คน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 317 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 101,551 คน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 981 และผู้โดยสารภายในประเทศ 36,736 คน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 55 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 

จากการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการภาคพื้นทั้ง 2 ราย (TG และ BFS) ที่ใช้เวลามากกว่า 30 นาที เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งมีประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน ปัจจุบัน (เดือนกุมภาพันธ์ 2566) ลดลงเหลือประมาณ 15 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนนั้น บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 ราย มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ

รวมทั้ง AOT ได้ขยายระยะเวลาให้บางสายการบินบริการภาคพื้นด้วยตนเอง (Self Handling) เป็นการชั่วคราว สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว AOT อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

การเตรียมการแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่ง บริเวณพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางและจุดตรวจค้น (Security Screening) ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ.ในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงพื้นที่จุดตรวจหนังสือเดินทางทั้งขาเข้า-ออก โดยจะเพิ่มช่องตรวจในรูปแบบ Auto Channel รวมถึงเพิ่ม New Priority Zone เพื่อเพิ่มพื้นที่และเพิ่มจำนวนช่องตรวจหนังสือเดินทางและจุดตรวจค้น ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ Visa on Arrival ที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) และเพิ่ม Pre-Immigration Kiosk ที่อาคารผู้โดยสารหลัก และอาคาร SAT-1 ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวจะพร้อมให้บริการในเดือนกันยายน 2566 และในปี 2567 จะเปิดให้บริการพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาเข้า Visa on Arrival และพื้นที่จุดตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า บริเวณสวนไผ่ ชั้น 2 ทสภ.

สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ขณะนี้ AOT ได้ดำเนินงานก่อสร้างอาคาร SAT-1 เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการทดสอบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (Baggage Handling System: BHS) คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2566 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการ (Operation Readiness Airport Transfer: ORAT) ในการทดสอบเต็มรูปแบบ (Full Scale Trial) เพื่อพร้อมเปิดรับผู้โดยสารภายในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสาร