AOT คิกออฟไมซ์เลน 6 ท่าอากาศยานปลายปีนี้ รองรับนักเดินทาง TCEB

ผู้ชมทั้งหมด 217 

AOT จับมือ กต. สตม. TCEB เริ่มคิกออฟช่องทางพิเศษรองรับนักเดินทางไมซ์เลนเข้าประเทศ สนองนโยบายรัฐบาลผลักดันไทยจุดหมายการจัดงานเชิงธุรกิจ เทศกาลนานาชาติ คาดมีนักเดินทางไมซ์  1 หมื่นคนต่อวัน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.)  กล่าวว่า ทอท. ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ถือเป็นประตูบานแรกที่ให้การต้อนรับนักเดินทางจากทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนภารกิจในการต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ (MICE Lane Service)

รวมถึงการจัดงานในระดับนานาชาติ โดยการจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารตลอดจนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์การจัดงานไมซ์ และร่วมส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ให้เติบโต เพื่อร่วมมือกันดึงดูดให้มีการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการนำเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป

สำหรับการเปิดช่องทาง MICE Lane Service คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดให้บริการปลายปี 2567 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการคาดว่าจะมีนักเดินทางไมซ์ในช่วงมีการจัดสัมมนามีการเดินทางสูงสุดกว่า 10,000 คนต่อวัน โดยการเปิดช่องทาง MICE Lane Service นอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้วยังช่วยสนับสนุนให้ผู้โดยสารมาใช้บริการท่ากาศยานของ AOT เพิ่มขึ้น คาดว่าปีนี้จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 แสนคนต่อวัน จากปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 1.8 แสนคนต่อวัน ขณะที่ภาพรวมผู้โดยสารทั้ง  6 ท่าอากาศยานในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 120 ล้านคน

ทั้งนี้ภายหลังจากเปิดช่องทาง MICE Lane Service ช่วงปลายปีนี้ รวมถึงนโยบายวีซ่าฟรี 93 ประเทศนั้นคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้การเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นทาง AOT จะประเมินตัวเลขผู้โดยสารของปี 2568 ใหม่จากเดิมตั้งเป้าผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยานของ AOT ไว้ที่ 140 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตามเพื่อสนับสนุนการเปิดให้บริการช่องทาง MICE Lane Service นั้น AOT จะลงทุนติดตั้ง Auto Gate ทั้ง 6 ท่าอากาศยานของ AOT โดยรวมใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการติดตั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว 20 Gate คาดว่าจะติดตั้งครบทั้งหมด 80 Gate ภายในปีนี้

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าและเทศกาลระดับโลก เพื่อสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งให้อำนวยความสะดวกการเดินทาง

เข้าประเทศของนักเดินทางธุรกิจและผู้ร่วมงาน ทีเส็บในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจเป็น National Bidder หรือผู้ยื่นประมูลสิทธิ์ในนามรัฐบาลไทย จึงพร้อมดำเนินการสนองนโยบายโดยใช้กลไกขับเคลื่อนที่ทีเส็บและหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดตั้งขึ้น คือ Thailand MICE One Stop Service หรือศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์

บทบาทหน้าที่ของ Thailand MICE One Stop Service คือ อำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางเข้าเมืองของนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ เพื่อลดทอนขั้นตอนและเวลาในกระบวนการสำคัญ อาทิ การขอวีซ่า การตรวจคนเข้าเมือง และการต้อนรับเมื่อมาถึงสนามบิน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการประสานงานเพื่อนำเข้าสินค้า วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือสำหรับนำมาใช้จัดงานในประเทศไทย

ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Thailand MICE One Stop Service คือ การบริการอำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองให้กับแขกวีไอพีชาวต่างประเทศ ณ สนามบิน หรือ MICE Lane Service ที่ปัจจุบันมีให้บริการ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ทั้งนี้ ในปี 2566 มีงานที่ขอใช้บริการ MICE Lane จำนวน 211 งาน ให้บริการนักเดินทางไมซ์ 6,684 คน ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มีงานที่ขอใช้บริการ MICE Lane รวมทั้งสิ้น 160 งาน ให้บริการนักเดินทางไมซ์ 9,701 คน

เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ทีเส็บกำลังขยายบริการ MICE Lane ไปยังสนามบินนานาชาติภูเก็ตและเชียงใหม่ ที่เป็นสองเมืองไมซ์สำคัญของไทย โดยในปีนี้ ได้เปิดให้บริการแบบชั่วคราว และกำลังจะเปิดดำเนินการถาวรในปีหน้า ส่วนในปี 2569 จะเปิดให้บริการ ณ สนามบินอุดรธานี เพื่อเตรียมรองรับจำนวนนักเดินทางที่จะมาร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลก

การจับมือกับ 3 หน่วยงานพันธมิตรถือเป็นการเตรียมต้อนรับแขกวีไอพีที่จะเดินทางมาร่วมงานใหญ่อีกหลายรายการที่ทีเส็บมีส่วนร่วมดึงมาจัดในประเทศไทย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เช่น งาน IDF World Diabetes Congress 2025 การจัดประชุม IMF-World Bank Group ในปี 2569 งาน Global Sustainable Tourism Conference หรือ GSTC 2026 ที่จะมีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคน

นอกจากนี้ ยังมีงานใหญ่อีกหลายรายการที่ทีเส็บกำลังดำเนินการดึงมาจัดในประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล เช่น การจัดการแข่งขัน Formula E ณ จังหวัดเชียงใหม่ การจัดการแข่งขัน Formula One และงาน WorldPride 2030 เป็นต้น

นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กรมการกงสุลพร้อมอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้ผู้เข้าร่วมและผู้จัดงานไมซ์ โดยจะขยายการเปิดให้บริการระบบ e-Visa ให้ครบทุกสถานทูต สถานกงสุลไทยภายในปลายปี 2567 รวมทั้งกำหนดมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมเชื่อมั่นว่ามาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวจะสามารถรองรับและอำนวยความสะดวกให้นักเดินทางไมซ์ในการเข้าประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

พล.ต.ต. เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 กล่าวว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยมี 3 มาตรการหลัก คือ 1) มาตรการการยกเว้นวีซ่าและขยายระยะเวลาการพำนักตามนโยบายรัฐบาล โดยมีการกำหนดสัญชาติที่ได้รับยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) 93 ประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวหรือทำงาน/ติดต่อธุรกิจระยะสั้น 60 วัน โดยสามารถขออยู่ต่อได้อีก 30 วัน ซึ่งเป็นการประกาศให้ประเทศที่ได้รับสิทธิเดิม และเพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิใหม่ด้วย โดยจะประกาศใช้วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นี้

การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) และเพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) 2) มาตรการการคัดกรองโดยใช้เทคโนโลยี อำนวยความสะดวกภายใต้หลักความมั่นคง ได้แก่ ระบบคัดกรองล่วงหน้า APPS ที่สามารถตรวจสอบคัดกรองล่วงหน้าจากประเทศต้นทางว่าผู้โดยสารมีข้อมูลหมายจับหรือบุคคลเฝ้าระวัง และเป็นบุคคลต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ หรือไม่ การพัฒนาช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติรองรับคนไทยและคนต่างชาติในกลุ่ม E-passport ในอนาคต เป็นต้น 3) มาตรการด้านการบริหารจัดการเพิ่มกำลังพลเต็มทุกช่องตรวจในช่วงเวลาที่ผู้โดยสารเดินทางหนาแน่น (peak hour) และการประสานงานร่วมกับทีเส็บเพื่อจัดช่องทางพิเศษเฉพาะกลุ่มนักเดินทางไมซ์