ผู้ชมทั้งหมด 1,027
“แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้” ชู 5 จุดเด่นคว้า 18 โครงการไฟฟ้าชุมชนฯ เตรียมใช้งบ 4,720 ล้านบาท เดินหน้าก่อสร้างกลางปีหน้า หลังเซ็นต์ PPA ช่วงพ.ย.-ธ.ค.นี้ มั่นใจบริหารจัดการต้นทุนสร้างผลตอบแทนที่ดี หนุนกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแตะ 508.57 เมกะวัตต์
นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา กรรมการบริหารประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า บริษัทย่อยของ ACE ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 18 บริษัท รวม 18 โครงการ (1 บริษัทย่อยต่อ 1 โครงการ) คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 59.00 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 50.00 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวเป็นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ทั้ง 18 โครงการ
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นการศึกษาเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน หลัง กกพ. ประกาศรายชื่อฯ โดย กกพ. กําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 36 เดือน นับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ ภายในวันที่ 21 มกราคม 2568
ทั้งนี้ บริษัท คาดว่าจะใช้งบลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน 18 โครงการ อยู่ที่ราว 4,720 ล้านบาท หรือ ประมาณ 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วงกลางปีหน้า หลังจากสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ได้ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม การได้รับคัดเลือกประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญของบริษัทฯ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยเสริมให้เป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์รุดหน้ามากยิ่งขึ้น
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการประมูลครั้งนี้ นอกจากการเสนอราคาแข่งขัน ค่าไฟฟ้าที่ต่ำแล้ว คาดว่าจุดเด่นคือ การเสนอผลประโยชน์ให้กับชุมชนที่มุ่นเน้นสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนแบบ 360 องศา 5 ด้าน มากกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กำหนด ได้แก่…
1.นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร ที่มีแอพพลิเคชั่น Crop monitoring system การจัดตั้งศูนย์บริการเครื่องจักรกลการเกษตร
2.สาธารณสุขและสาธารณูปโภค ในการตรวจสุขภาพชุมชนรอบโรงไฟฟ้า จัดซื้ออุปกรณ์กีฬา ปรับปรุงถนน 3. การศึกษา โดยมอบทุนการศึกษา จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ปลูกพืชพลังงาน
4.อาชีพ โดยจัดหากล้าพันธุ์ให้กับเกษตรกรปลูกซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการปลูกพืชพลังงาน
5.วัฒนธรรม โดยสนับสนุนเงินจัดกิจกรรม ซ่อมแซมบูรณะวัด โบราณสถานต่างๆ เป็นต้น รวมถึงข้อเสนอที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างให้เกิดประโยชน์กับชุมชนแต่ละพื้นที่ได้สูงสุด
นายธีรวุฒิ มั่นใจว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนทั้ง 18 โครงการของบริษัท จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัท มีประสบการณ์จากการศึกษาความรู้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพมา 7-8 ปีแล้ว และบริษัท สามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างให้อยู่ในระดับไม่เกิน 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ จากที่ประมาณการณ์ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ รวมถึงการทำเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) กับชุมชน ที่ทำให้มั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
“บริษัท ยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชนในเฟสต่อไปก็พร้อมเข้าร่วม ไม่ว่ารัฐจะปรับเปลี่ยนไปใช้กติกาเดิมที่ไม่ใช่รูปแบบการประมูล หรือ จะเป็นรูปแบบการประมูลก็ตาม”
ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท ACE มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 22 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 247.67 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 15 โครงการ 201.90 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 449.57 เมกะวัตต์ (ยังไม่นับรวม 18 โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน) ซึ่งหากรวม 18 โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งรวม อยู่ที่ 508.57 เมกะวัตต์