ACE ลุยชิงเค้กขยะชุมชน – พลังงานหมุนเวียน เฟส 2

ผู้ชมทั้งหมด 1,090 

ACE ลั่นพร้อมชิงเค้กโครงการพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 -ขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม หนุนกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่ม จ่อออกหุ้นกู้ปลานปีนี้ วงเงิน 500-1,000 ล้านบาท เสริมแกร่งด้านการเงินลุยลงทุนตามแผน 4 ปี มูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท ดันรายได้โตเท่าตัว

สืบเนื่องจาก ประเทศไทย ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) นั้น หากธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในปริมาณสูง ดำเนินการเพียงแค่การลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯอย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และแม้ว่าตามแผนพลังงานชาติ (NEP) จะกำหนดส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 50% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม ก็อาจไม่เพียงพอเช่นกัน

บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย จึงเห็นถึงโอกาสความต้องการใช้ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ที่จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ต่างมีความต้องการใช้ REC เพื่อเป็นเครื่องหมายการรันตีว่ามีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน 

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ระบุว่า บริษัทเร่งมองหา New S-Curve โดยวางแผนจะก้าวเป็นผู้ให้บริการด้าน Net Zero Solutions ครบวงจรแบบ One Stop service อาทิ คาร์บอนเครดิต และใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าของ ACE สามารถผลิต REC ได้ประมาณ 1 ล้าน REC ต่อปี และในอนาคตหากโรงไฟฟ้าชีวมวลต่างๆ สามารถเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ตามแผนงานเรียบร้อยแล้ว อาจเพิ่มได้ถึงระดับ 2 ล้าน REC ต่อปี โดยในส่วนนี้จะสามารถนำไปขายให้กับผู้ต้องการ REC เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษทในอนาคตได้

อีกทั้ง บริษัทกำลังเตรียมความพร้อมด้านบริการให้คำปรึกษา หรือ รับดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยลด CO2 ให้กับภาคธุรกิจ อาทิ การให้บริการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างทำ Pilot Project ทั้งการวิจัยพัฒนาพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศ ทนต่อโรค พร้อมทดลองปลูกในพื้นที่จำนวน 200 ไร่ที่จังหวัดพะเยา เพื่อมองหารูปแบบและปัจจัยที่เหมาะสม สำหรับลูกค้าเป้าหมายเบื้องต้นมองไว้ที่กลุ่มบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศไทย โดย ACE มีบริษัทในกลุ่มที่สามารถพัฒนาต้นกล้าไม้ได้สูงสุดถึง 30 ล้านต้นต่อปี

“ACE ตั้งเป้ามุ่งสู่องค์กรที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี  2593 ซึ่งสอดรับตามกลยุทธ์ธุรกิจในการตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็น “ต้นแบบผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของโลก” ที่ยึดมั่นมาตลอด อันจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกจากภายในองค์กรไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

ปัจจุบัน ACE มีโครงการโรงไฟฟ้ารวม 88 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 602.29 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 23 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 277.57 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 65 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 324.72 เมกะวัตต์

โดยในปี 2567 ยังมีโรงไฟฟ้าที่คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยเปิด COD เพิ่มเติม ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญา PPA 35 เมกะวัตต์ แต่บริษัทฯ สามารถติดตั้งได้ 70 เมกะวัตต์ คาดว่าจะCOD ช่วงไตรมาส 4 อีกทั้ง ในปี 2568 จะมีโครงการที่ทยอยCOD อีก 10 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญา PPA 57.33 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังก่อสร้าง จำนวน 8 แห่ง ให้เป็นโรงไฟฟ้า New Gen ด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบ AI มาช่วยออกแบบพัฒนาประสิทธิภาพเรื่อง Machine detect ตรวจจับวัดเปอร์เซ็นต์การเผาไหม้วัตถุดิบ พร้อมส่งสัญญาณแจ้งเตือนกรณีเกิด overburn หรือ unburn แบบเรียลไทม์ เพื่อลดต้นทุนด้านการ Operation และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงได้ในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น และโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถใช้เชื้อเพลิงได้กว่า 60 ชนิด ซึ่งมากกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลในแถบอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป โดยคาดว่า โรงไฟฟ้า New Gen จะทยอยแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ตามแผนการลงทุน 4 ปี (2567-2570) บริษัทจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 2  หมื่นล้านบาท โดยในช่วงปี 2567-2568 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ปีละประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินสัดส่วนประมาณ 70% และที่เหลืออีก 30% จะมาจากเงินลงทุนของบริษัท โดยหากคำนวนจากเงินลงทุนรวมที่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ก็จะต้องใช้เงินลงทุนของบริษัท อยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมี Ebitda เข้ามาปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ในส่วนนี้จะต้องกันไว้สำหรับบริหารจัดการหนี้ที่ ณ. สิ้นปี 2566 อยู่ที่ระดับ 5,700 ล้านบาท ฉะนั้น อาจเหลือเงินจาก Ebitda ที่นำมาใช้ได้เพียงปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

ตอนนี้ เรามีหุ้นกู้เดิมเหลืออยู่ 300 ล้านบาท แต่คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ อาจจะต้องออกหุ้นกู้เพิ่มประมาณ 500-1,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและตอบสนองต่อผู้ลงทุนที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม หากแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าต่างๆบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกือบแตะ 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นเท่าตัว จากผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทสามารถทำรายได้จากการขายและบริการรวม 6,583 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 มั่นใจว่า รายได้จะเติบโตขึ้นจากปี 2566 เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอย COD เพิ่มขึ้นรวมประมาณ 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดคลองขลุง (SPP Hybrid คลองขลุง) จังหวัดกำแพงเพชร ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ดำเนินการโดยบริษัท ไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด (“BPP”) บริษัทย่อยที่ ACE ถือหุ้นโดยอ้อมสัดส่วน 100% กำลังการผลิตติดตั้งรวม 20 เมกะวัตต์และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แบบ Feed-in Tariff (FiT) 13.31 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (“กฟผ.”) ได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีอายุสัญญา 20 ปี รวมถึง โรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ อีก 5 โครงการ ที่จะทยอยCOD ในช่วงไตรมาส4 ปีนี้  

ขณะเดียวกัน บริษัทยังรอลุ้นผลการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) อีกหลายโครงการ ที่คาดว่าจะทยอยประกาศผลผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้ รวมถึงยังรอเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ ทั้งโครงการพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ระยะที่สอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ตลอดจนโรงไฟฟ้าชุมชน เฟส 2  และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดโอกาสลงทุนในต่างประเทศ แต่คงต้องพิจารณาความคุ้มค่าอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ