ผู้ชมทั้งหมด 1,139
กทพ.จับมือกฟภ.ลงนามข้อตกลงโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล พร้อมติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป เปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างทางเป็นหลอดแอลอีดี คาดใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท หวังยกระดับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ คาดช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 117 ล้านบาท
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) ระหว่าง กทพ. กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่า โครงการครั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันศึกษาการพัฒนาด้านธุรกิจพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กทพ. มีต้นทุนค่าไฟฟ้าส่องสว่างทางพิเศษ อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และศูนย์ควบคุมทางพิเศษประมาณ 168 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 117 ล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ภายหลังจากการลงนามทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกัน เพื่อศึกษารายละเอียดการดำเนินโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล นั้นจะมีการติดตตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างทางพิเศษจากหลอดไฟธรรมดาเป็นหลอดไฟแอลอีดี เบื้องต้นจะดำเนินการบนทางพิเศษของ กทพ. ทั้งหมด ซึ่งมีระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นอย่างไรนั้นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาในรายละเอียด โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งตั้งเป้าว่าในระยะแรกจะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ 30% และในระยะยาวจะลดลงได้ประมาณ 50% ทั้งนี้หากดำเนินการแล้วเสร็จจะถือว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่ามาก ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะคืนทุนประมาณ 6-7 ปี และช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ใดก่อน และดำเนินการในรูปแบบใด ขณะที่การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปนั้นในปัจจุบันมีต้นทุนการติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ต่อ 30 ล้านบาท โดยหากจะติดตั้งต้องดำเนินการบนอาคารที่ทำการ หรือด่านเก็บเงิน ส่วนการติดตั้งเปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดีนั้น ต้องลงไปศึกษาคุณสมบัติในการส่องสว่างของแสงว่าเพียงพอต่อความปลอดภัยในการขับขี่บนทางพิเศษหรือไม่