BTSเฮศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีขัดแย้งประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ผู้ชมทั้งหมด 1,182 

BTS เฮหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณี BTSC ยื่นคำร้องของคุ้มครองฉุกเฉินกรณีปรับหลักเกณฑ์ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์การประมูลแบบเดิม

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ต.ค. 63) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ปรับหลักเกณฑ์ประมูลโครงการดังกล่าว ภายหลังเปิดขายซองข้อเสนอไปแล้ว ถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ศาลมีคำสั่งให้ รฟม.ไปใช้หลักเกณฑ์เดิมในการประมูลโครงการ ซึ่ง รฟม.จะต้องกลับไปใช้เกณฑ์การตัดสินคะแนนทางการเงิน 100 คะแนน จากที่ก่อนหน้านี้ปรับมาจะใช้เทคนิค 30 คะแนน และการเงิน 70 คะแนน โดยคำสั่งศาลครั้งนี้ ไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอกระบวนการประมูล เพราะตามคำร้องของบีทีเอส เราไม่ไดขอคุ้มครองชะลอโครงการ แต่ขอให้ศาลคุ้มครองกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิม ส่วนเรื่องที่บีทีเอสยื่นฟ้อง ศาลยังไม่ได้มีการพิจารณาตัดสิน คอนนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจว่าศาลจะมีนัดไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่”

สำหรับศาลปกครองกลาง ได้มีการนัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยประเด็นของการฟ้อง บีทีเอสในฐานะผู้ฟ้องคดี ยังคงยืนยันคำฟ้อง 2 ส่วน คือ 1.ขอให้ยกเลิกเอกสารเพิ่มเติม ตามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศออกมานอกเหนือจากเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ซึ่งมีผลทำให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกสาร จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน

2.ขอคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งตัดสินคดี โดยประเด็นคำฟ้องดังกล่าว เนื่องจากบีทีเอสเห็นว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศขาย RFP ไปแล้วนั้น ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบ ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง รฟม.ยังดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่อนุมัติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีมติเห็นชอบถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในรูปแบบเดิมแล้ว