“พีทีที สเตชั่น” เปิดพื้นที่จุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิต รักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ผู้ชมทั้งหมด 801 

โออาร์ เปิดพื้นที่ “พีทีที สเตชั่น” เป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิต เพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดหน่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนที่ และการลงนามความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ โดยมี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ร่วมลงนาม

นายแพทย์สมศักดิ์ เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือกสมองเฉียบพลันเป็นปัญหาสุขภาวะที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดความพิการถาวร ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันด้วยวิธีการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการได้ดีขึ้นมาก แต่ยังพบปัญหาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล ต้องใช้เวลาเดินทางนานทำให้มาถึงโรงพยาบาลไม่ทันเวลา กรมการแพทย์จึงได้สนับสนุนการจัดระบบบริการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่โดยจัดสรรงบประมาณจัดซื้อรถรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่หรือโมบาลสโตรคยูนิต (Mobile stroke unit) เพื่อให้เป็นไปตามการขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เพื่อประโยชน์การขยายบริการการรักษาให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

นายแพทย์สมบูรณ์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รับผิดชอบประชากรในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันมารับบริการปีละ 800-1,000 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การเปิดหน่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนนี้ ถือเป็นการขยายบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันท่วงที

รวมทั้งการส่งตัวผู้ป่วยเพื่อการรักษาต่อที่ซับซ้อนขึ้น โดยไม่เป็นการเสียเวลาและโอกาสของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดความพิการและอัตราการเสียชีวิต อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินอีกด้วย โดยปัจจุบันโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเป็นหนึ่งในสามสถาบันการแพทย์ที่เปิดให้บริการรถโมบายสโตรคยูนิต

นางสาวจิราพร เปิดเผยว่า โออาร์ ตระหนักถึงความจำเป็น ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จึงพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนโครงการโมบายสโตรคยูนิต ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานได้อย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการรักษาและลดอัตราการตายหรือพิการของผู้ป่วย

โดยการให้พื้นที่และสาธารณูปโภคที่จำเป็นภายในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ครอบคลุมพื้นที่เขตคันนายาว เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง ให้เป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิต

รวมทั้ง รถ EMS หรือ รถกู้ชีพฉุกเฉิน สำหรับรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันจากที่พักเพื่อมารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ถือเป็นโอกาสในการใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่ โออาร์ มีอยู่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความสามารถให้กับโครงการโมบายสโตรคยูนิต ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ โมบายสโตรคยูนิต  (Mobile Stroke Unit) เป็นหน่วยบริการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยให้การดูแลรักษาตามมาตรฐาน สามารถทำเอกซเรย์สมองได้ทันทีภายในรถ ให้ยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) เพื่อเปิดเส้นเลือดโดยการดูแลของแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ มีการประสานงานผ่านระบบรักษาทางไกล (Telemedicine) ร่วมกับแพทย์เฉพาะทางโรคสมอง

รวมทั้งสามารถตรวจเอกซเรย์เส้นเลือดสมองเพื่อพิจารณาการรักษาเพิ่มเติมได้โดยเร็วอีกด้วย โดยแนวทางการให้บริการ  คือเมื่อผู้ป่วยที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการมีอาการสงสัยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เช่น อ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก  ปากหรือใบหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด โดยมีอาการเฉียบพลันทันทีภายใน 4 ชั่วโมง สามารถโทรแจ้งขอรับบริการได้ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน “1669” ศูนย์กู้ชีพจะประสานงานหน่วยเฉพาะกิจรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่  โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโมบายสโตรคยูนิตจะออกปฏิบัติการรับผู้ป่วยต่อจากรถฉุกเฉินกู้ชีพเพื่อการรักษาอย่างรวดเร็ว ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ใกล้จุดเกิดเหตุของผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อลดระยะเวลาการเดินทาง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดโอกาสเกิดความพิการและการสูญเสียชีวิต