ผู้ชมทั้งหมด 757
GGC จับมือ GIZ ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน500 ราย นำร่อง 4 จังหวัด กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และพังงา ยกระดับสู่มาตรฐาน RSPO ภายในปี 2567
นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า GGC ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate – friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand) หรือ SCPOPP เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดน้ำมันปาล์มยั่งยืนของไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดโลก
GGC เห็นว่าในสภาวะการแข่งขันสูงการยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ได้ตรงตามมาตรฐาน RSPO (The Roundtable on Sustainable Palm Oil) เป็นสิ่งจำเป็น บริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศมีการเลือกคู่ค้าที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าวมาพิจารณาซื้อสินค้ามากขึ้น รวมทั้งการกำหนดกฏเกณฑ์มาตรฐานในการรับซื้อวัตถุดิบ ส่วนประกอบ หรือแสดงจุดยืนในการรับสินค้ามาขายจากผู้ประกอบการที่เป็นต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่มีกระบวนการผลิตที่รักษ์สิ่งแวดล้อม การเข้ามามีบทบาทในการยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จึงเป็นเรื่องที่เรามองว่าสำคัญ
นอกจากการสร้างโอกาสให้กับการดำเนินธุรกิจของ GGC แล้ว ยังมองหาแนวทางที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยการขยายผลที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้รับความรู้ด้านการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เราได้มีโอกาสเจอพันธมิตร คือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate – friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand) หรือ SCPOPP เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO”
สำหรับความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ คือ การส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน 500 ราย ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดตรังและจังหวัดพังงา ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ภายในปี 2567
โดยมีแนวทางการดำเนินงานหลักๆ คือ การส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อย ด้วยการสร้างวิทยากรการฝึกอบรมที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ โดยใช้หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันของไทย หรือที่เรียกว่า TOPSA (Thailand Oil Palm Smallholder Academy) ถ่ายทอดหลักสูตรให้กับเกษตรกร และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยให้มีการปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับมาตรฐานน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติและการพัฒนาความร่วมมือ สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสนับบสนุนเกษตรกรรายย่อย รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศ