ผู้ชมทั้งหมด 820
“สมโภชน์” แนะแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ต้องวางเป้าหมายขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าให้ชัดเจน เปลี่ยนใช้ OKR แทน KPI มุ่งเน้นผลลัพธ์ ฉวยโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 สร้างการแข่งขันดึงดูดนักลงทุน
เวทีการประชุมประจำปี ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการเสวนา 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2564 ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ ชุมชน เอสเอ็มอี ควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และนำการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เข้าร่วมนำเสนอข้อคิดเห็นในเวทีดังกล่าว โดยระบุว่า การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นหมุดหมายที่ 3 ของ 13 หมุดหมาย ภายใต้ แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ซึ่งมองว่าการจะทำให้เป้าหมายการพัฒนาประเทศประสบความสำเร็จนั้น หมุดหมายที่ 13 คือ ภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะริเริ่มและผลักดันการเชื่อมโยงทั้ง 13 หมุดเป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการในตอนนี้ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายต้องชัดเจน ว่าจะดำเนินการช่วงเวลาใด เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน เพื่อรักษาเศรษฐกิจฐานรากอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน ไม่เสียโอกาสให้กับเวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยจัดลำดับความสำคัญและโฟกัส และ Market Timing ก็สำคัญ
“เรากำลังบอกว่า เราอยากจะเป็น EV HUB เราอยากจะทำรถไฟฟ้า เราอยากจะมีโรงแบตเตอรี่ที่เมืองไทย แต่ตอนนี้การลงทุนมันไปลงที่เวียดนามแล้ว เขาตอกเสาเข็มแล้วสร้างโรงแบตเตอรี่”
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการจัดทำยุทธศาสตร์ “ยานยนต์ไฟฟ้า” รัฐควรสนับสนุนให้ผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเริ่มดำเนินการที่รถเชิงพาณิชย์ โดยให้รถในระบบราชการเป็นรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มปริมาณความต้องการใช้ หนุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในราคาต้นทุนต่ำ และดึงดูดผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากเดินตามแนวทางนี้ ประเทศจะได้รับประโยชน์สูงสุดหากจะผลักดันนโยบายต่อไปข้างหน้า
นอกจากนี้ รัฐควรตั้งเป้ามายที่ท้าทาย เพื่อ ให้เกิดแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ พร้อมจัดลำดับความสำคัญในแต่ละด้าน เช่น การทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้แข่งขันได้ เพิ่มอุปสงค์และอุปทาน
รวมถึง เปลี่ยนวิธีการตั้งเป้าหมาย เพื่อให้มุ่งสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง โดยหันใช้ OKR แทน KPI เพื่อเน้นผลลัพธ์ที่สร้างความสำเร็จมากกว่า อีกทั้งส่งเสริมคนไทยเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี (THAILAND FIRST) พร้อมเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อประเทศพ้นจาก Middle Income Trap เปิดกว้างยอมรับผลิตภัณฑ์ของคนไทย โดยการลดอุปสรรคและเงื่อนไขในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยคนไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติ
“วันนี้ โควิด-19 เป็นวิกฤต ต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป้นโอกาสเพื่อประเทศพ้นจาก Middle Income Trap”