“ขนส่งทางบก”ขยายเวลาคุมเข้มให้บริการรถโดยสารสาธารณะ

ผู้ชมทั้งหมด 390 

“ขนส่งทางบก” ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการให้บริการรถโดยสารสาธารณะสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำกัดผู้โดยสาร 75% ให้สอดคล้องตามประกาศ ศบค. มีผลถึงวันที่ 30 ก.ย. 64

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 33) ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อควบคุมสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงบังคับใช้มาตรการต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

ดังนั้นการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จึงมีความจำเป็นในการจัดบริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะให้สอดคล้องตามประกาศ ศบค. โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งและที่ยืน รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข

การให้บริการเดินทางข้ามจังหวัด และการขนส่งสาธารณะให้คงมาตรการเดิมต่อไป โดยงดให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 น. – 04.00 น. จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนการให้บริการของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 และรถโดยสารไม่ประจำทาง ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด

สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า สามารถขนส่งสินค้าได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยงดการขนส่งสินค้า ระหว่างเวลา 21.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงานหรือหนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้า และการเดินทางของผู้ขนส่งสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทในสถานการณ์ที่ยังคงมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการยังต้องดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับบริการมีความปลอดภัยในการใช้บริการ อาทิ การตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารและผู้ขับรถ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ในระหว่างการเดินทางต้องมีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้โดยสารปรับอากาศ และมีการแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อระบายอากาศภายในรถ และทำความสะอาดภายในตัวรถและพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ