ผู้ชมทั้งหมด 846
ขร.เตรียมประกาศใช้พ.ร.บ.การขนส่งทางรางบังคับใช้ปี 65 หวังช่วยคุมมาตรฐานราง-ค่าโดยสาร ของรถไฟ รถไฟฟ้า ทั่วประเทศ พร้อมเตรียมนำสลอตรางรถไฟที่ไม่ได้ใช้งานมาเปิดประมูลให้เอกชนเช่าเชื่อสร้างรายได้ให้รถไฟเพิ่มขึ้นกว่าปีละ2-3พันล้านบาท
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการนำ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่จะเริ่มประกาศใช้ในปี 2565 มาใช้ปฎิบัติในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางทั่วประเทศไทยว่า พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ดังกล่าวหากออกมามีผลบังคับใช้ตามกฎหมายจะครอบคลุมทั้ง รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง
โดยจะจะทำให้ ขร.สามารถเข้าไปกำกับดูแล กำหนดหลักเกณฑ์ กำหนดอัตราค่าโดยสาร ควบคุมมาตรฐานราง การให้บริการของผู้ให้บริการการคมนาคมขนส่งในระบบรางทั้งหมดของประเทศไทย รวมทั้งจะเข้าไปดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้ระบบรางทั้งหมดให้เกิดความเป็นธรรม
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางนั้น ในส่วนของการคุ้มครองผู้โดยสารในอนาคตหากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ขร.จะเป็นผู้กำหนดราคาค่าโดยสารของระบบรางทั้งหมด โดยจะกำหนดอัตราราคาสูงสุดที่สามารถจัดเก็บได้ รวมถึงจะมีการกำหนดสูตรคำนวณค่าโดยสารให้เป็นมาตรฐาน และที่สำคัญสามารถที่จะเข้าไปกำหนดในแต่ละสัญญาสัมปทานที่จะเกิดขึ้น ในโครงข่ายระบบรางทั้งหมด
โดยจะมีการระบุอย่างชัดเจนในสัญญาแนบท้ายหรือข้อเสนอโครงการ Request for Proposal (RFP) ว่า การกำหนดราคาค่าโดยสาร หรือเปลี่ยนแปลงราคา จะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของสัญญา และกระทรวงก่อนที่จะมีการปรับราคาค่าโดยสาร และการคำนวณการจัดเก็บค่าโดยสารจะต้องขึ้นอยู่กับ ขร.ที่เป็นผู้กำกับดูแลก่อนจากเดิมในสัญญาไม่ได้ระบุไว้
นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยคุ้มครองผู้โดยสารที่ใช้ระบบรางหากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริการสามารถร้องเรียนมายังกรมการขนส่งทางรางได้ โดยขร.จะทำหน้าที่ในการออกกฎระเบียบ มาตรฐานคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งจะดูแลถึงการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้โดยสาร เมื่อการเดินรถขนส่งทางรางมีเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก การประกันภัยความเสียหายในชีวิต ร่างกาย และกำหนดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมี ครรภ์ และเด็ก ในกรณีที่ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ หรือบุคคลอื่น ได้รับความเดือดร้อนจากการ ประกอบกิจการขนส่งทางราง
พร้อมกันนี้เมื่อพ.ร.บ.ขนส่งทางรางมีผลบังคับจะช่วยยกระดับมาตรฐานของระบบรางทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น โดย ขร.จะมีการกำหนดการตรวจสอบมาตรฐาน ประสิทธิภาพการใช้งานของราง ตามกำหนดระยะเวลาเพื่อให้การใช้งานมีมาตรฐานความปลอดภัยมากที่สุด
ขณะเดียวกันในส่วนของบุคลากรที่จะมาทำงานเกี่ยวกับราง ทั้งคนขับรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาขับรถไฟทุกประเภท โดยเฉพาะการจะมาเป็นผู้ขับได้จะต้องผ่านการทดสอบใบอนุญาตขับขี่รถไฟก่อนมาปฎิบัติงาน
อย่างไรก็ตามสำหรับคนขับรถไฟ และรถไฟฟ้าทั้งระบบในประเทศไทยรวมกันมีประมาณ 3,000 คน แบ่งเป็นคนขับรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 2,000 คน คนขับรถไฟฟ้าในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ รถไฟฟ้า บีทีเอส รวมกว่า 1,000 คน
นอกจากนี้แล้ว นายพิเชฐ ยังได้กล่าวถึงนโยบายที่จะนำเที่ยววิ่งการเดินรถไฟที่ว่าง (สลอต) ที่รถไฟไม่ใช้รางมาเปิดประมูล ว่า การนำสลอตมาเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจใช้รางรถไฟของ รฟท. มาบริหารจัดการขนส่ง ผู้โดยสาร สินค้าผ่านทางรถไฟนั้นเชื่อว่าจะช่วยให้รฟท. มีรายได้จากการเปิดเช่ารางเพิ่มขึ้น กว่าปีละ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปีและช่วยให้รฟท.ลดการขาดทุนในแต่ละปีได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันรฟท.มีความยาวรางทั่วประเทศกว่า 4,000 กิโลมเตรให้บริการใน 32 เส่้นทางหลัก และในอนาคตประเทศไทยจะมีรางรถไฟเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า เนื่องจากประเทศมีการพัฒนาระบบรางเพิ่มขึ้นทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง