ผู้ชมทั้งหมด 1,338
TSE ลั่นเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 2-3 โครงการ คาดปิดดีลได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ หนุนผลประกอบการครึ่งปีหลังโตกว่าครึ่งปีแรก พร้อมเดินหน้าตามแผน 5 ปี เพิ่มกำลังผลิตใหม่อีก 100-200 เมกะวัตต์
น.ส.เกศรา เลิศพนาสรรค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยในงาน Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2564 ว่า บริษัท คาดว่า ภายในเดือนนี้ หรือเดือนหน้าจะสามารถปิดดีลเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ได้ จากปัจจุบันเจรจาอยู่ 2-3 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว และหากผลการเจรจาประสบความสำเร็จก็จะรับรู้รายได้ทันที่ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังให้เติบโตต่อเนื่อง
โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง บริษัท มองว่าจะดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากรับรู้รายได้จากโครงการใหม่ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ “สยาม ธารา โฟลทติ้ง” ขนาดกำลังผลิตติดตั้งและเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ ภายใต้อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้า 25 ปี (Private PPA) จ่ายไฟให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2564 ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะสามารถรับรู้ได้เต็มไตรมาส
ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นช่วงโลว์ซีซั่น เช่น บางโครงการในประเทศญี่ปุ่น ที่มีหิมะตกหนักส่งผลต่อประสิทธิภาพของการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่หากเทียบผลการดำเนินงานกับปีก่อน ยังต้องรอดูปริมาณฝนด้วยซึ่งปีนี้มีแนวโน้มว่าฝนจะตกมากกว่าปีที่ผ่านมา
“รายได้รวมทั้งปีนี้จะเติบโตจากปีก่อนหรือไม่ ยังต้องรอดูไตรมาส3-4 ปีนี้ ว่าจะซื้อโครงการใหม่ๆได้กี่โครงการและกี่เมกะวัตต์ ซึ่งก็จะรับรู้รายได้ทันที ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาในครึ่งปีหลังหากซื้อกิจการสำเร็จก็เชื่อว่าจะเติบโตต่อเนื่อง”
น.ส.ชฎาธิรัฏฐ์ เลิศทวีสิน ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการ Onikoube ในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตรวม 147 เมกะวัตต์ ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่า 30% คาดว่าสิ้นปีนี้ จะอยู่ที่กว่า 60% และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี2565 ตามแผน
ส่วนแผนลงทุน 5 ปีของบริษัท วางเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไทยจากในประเทศไทย เพิ่มขึ้นประมาณ 50 เมกะวัตต์ ทั้งในรูปแบบM&A การลงทุนในลักษณะสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างหน่วยงานเอกชนกับเอกชน(Private PPA) และศึกษาโอกาสลงทุน Waste to Energy
รวมถึงศึกษาโอกาสขยายการลงทุนโครงการในต่างประเทศเพิ่มเติม ทั้งพลังงานลม และโซลาร์ฯ ในเวียดนาม และประเทศอื่นๆ คาดหวังจะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มขึ้น 50-100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น ประมาณ 100-200 เมกะวัตต์