กกพ.เสนอ 3 แนวทางจัดหา LNG 4.8 แสนตัน

ผู้ชมทั้งหมด 728 

กกพ. เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหา Shipper ไม่จองโควต้านำเข้า LNG 4.8 แสนตัน แนะเปิดประมูลแข่งขัน ยกให้ปตท.เป็นผู้นำเข้า หรือกฟผ.จัดหาตามสิทธิ์ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า พร้อมยันสต๊อกก๊าซฯในประเทศยังไม่วิกฤตสามารถบริหารจัดการได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์  เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า จากกรณีที่เอกชนที่ได้ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (Shipper LNG) รายใหม่ไม่จองสิทธิ์ (โควต้า) ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบให้ Shipper นำเข้า LNG  4.8 แสนตันในปี 2564 นั้นทางกกพ.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการหาแนวทางแก้ปัญหา โดยกกพ.ได้เสนอแนวทางการนำเข้า LNG โควต้า 4.8 แสนตันให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานพิจารณา 3 แนวทาง

ประกอบด้วยแนวทางที่ 1 ให้สนพ.พิจารณาข้อเสนอของ Shipper รายใหม่ ที่เรียกร้องให้แก้กติกา โดยให้นำโควต้า 4.8 แสนตันมาเปิดประมูลแข่งขันในระบบ Pool Gas (ราคาเฉลี่ยของก๊าซในอ่าวไทย+ก๊าซเมียนมา +LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท.) ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดก็เป็นผู้ได้สิทธิ์ในการจัดหา เพื่อให้ Shipper สามารถทดลองนำเข้า LNG ในโควต้าดังกล่าว เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมทดลองนำเข้า ก่อนที่ Shipper จะนำเข้ามาใช้เองจริงในปี 2565

แนวทางที่ 2 นำโควต้าดังกล่าวมาให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหา แต่ต้องไปแก้กติกาให้สามารถนำเข้าได้ในราคาที่สูงกว่าราคา Pool Gas จากเดิมที่ปตท.ต้องนำเข้าต้องต่ำกว่าราคา Pool Gas และต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามแนวทางการเปิดเสรีก๊าซด้วย เพราะการเปิดเสรีเปิดให้รายใหม่นำเข้าในโควต้า 4.8 แสนตัน แต่หากให้ปตท.นำเข้าในโควต้านี้ก็ต้องมาแก้กฎกติกาใหม่

ส่วนแนวทางที่ 3 คือ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้จัดหาหากสามารถจัดหาได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคา LNG ในตลาดจร หรือ Spot LNG ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยที่ 17-18 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้า โดยหากกฟผ.ไม่สามารถนำเข้ามาในราคาที่ต่ำได้ก็แนะนำให้พิจารณาจัดหาในรูปแบบสัญญาระยะยาว

นายคมกฤช กล่าวปริมาณสต๊อก LNG ในประเทศ ว่า ในขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการได้ตามระบบ โดยได้ให้ปตท. พิจารณานำเข้า LNG เป็นแบบ Spot โดยใช้โควต้าของสัญญาระยะยาวมาชดเชยในช่วงที่ LNG ลดเหลือน้อยในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งล่าสุดปตท.พิจารณานำเข้ามา 1 ลำเรือในวันที่ 1 กันยายน 2564 และอยู่ระหว่างการพิจารณานำเข้ามาอีก 1 ลำเรือช่วงกลางเดือนกันยายน ดังนั้นตนยืนยันว่าปริมาณก๊าซฯ ยังไม่วิกฤตเพราะยังสามารถบริหารจัดการได้ตามระบบ  

กฟผ.ลั่นพร้อมนำเข้าแต่รอกกพ.ชี้ขาด

ด้านนางราณี  โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการนำเข้า LNG จากแผนเดิมที่ต้องนำเข้าปี 2564 ประมาณ 3 แสนตัน เนื่องจากในขณะนี้ราคา Spot LNG อยู่ในระดับสูงถึง 18 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งก็ต้องพิจารณาตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเหตุผลความจำเป็นในการนำเข้า LNG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต๊อก LNG  

ปตท.จัดหา LNG มาเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วงนี้หรือไม่สำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยต้องพิจารณาปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับระบบไฟฟ้า และไม่กระทบต่อภาระ Take or Pay ในสัญญาที่ทำไว้กับปตท.  

ขณะเดียวกันหากเกิดกรณีก๊าซฯ ในประเทศไม่เพียงพอ แล้วจะต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจของกกพ.ด้วยว่าจะเลือกแนวทางไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกกพ.จะพิจารณาอย่างไร หากพิจารณาให้กฟผ. เป็นผู้จัดหา LNG ตามโควต้า 4.8 แสนตันทางกฟผ.ก็พร้อมที่นำเข้าเพราะได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว