ผู้ชมทั้งหมด 1,211
การรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ตามกรอบข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทยและสปป.ลาวปัจจุบัน กำหนดไว้ที่ปริมาณ 9,000 เมกะวัตต์ ในขณะนี้ที่ไทยได้ลงนามรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ไปแล้ว 6,000 เมกะวัตต์ ยังคงเหลืออีก 3,000 เมกะวัตต์ที่ต้องดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวเพิ่มตามตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1)
ทั้งนี้ล่าสุดกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ของสปป.ลาว ได้เสนอขอขยายปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มเพิ่มขึ้นอีก 1,200 เมกะวัตต์ เป็น 10,200 เมกะวัตต์นั้น นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่ม โดยในเบื้องต้นกระทรวงพลังงานจะพิจารณารับซื้อตามกรอบเดิมที่ได้ MOU กันไว้ยังเหลืออีก 3,000 เมกะวัตต์ที่ต้องเข้าระบบในปี 2569-2571
โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สปป.ลาว เสนอจำหน่ายไฟฟ้าให้กับไทยเป็นโครงการใหม่ประมาณ 5 โครงการประกอบด้วย 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 3 กำลังการผลิตรวม 480 เมกะวัตต์ 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 เอ และ 4 บี มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 340 เมกะวัตต์ 3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ 4.โครงการพลังน้ำ Sana Kham ขนาดกำลังการผลิต 684 และ 5.โครงการพลังน้ำหลวงพระบาง ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 1,200 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามในขณะนี้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน อยู่ระหว่างคัดเลือกโครงการซึ่งต้องดูความเหมาะสมก่อน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เนื่องจากดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan)
ส่วนจะมีการขยายกรอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกรอบเดิมนั้นก็ต้องพิจารณาบรรจุให้อยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2022) ซึ่งตามกรอบแผนพลังงานชาติจะกำหนดสัดส่วนรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 50% เพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากสปป.ลาว จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งที่จะบรรจุในแผนพีดีพี
รับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม5โครงการหนุนเอกชนไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 5 โครงการที่สปป.ลาวเสนอจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มให้กับไทยนั้นหากเริ่มมีการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่เป็นผู้เข้าไปดำเนินการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้ง 5 โครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปากแบง (Pak Beng) โครงการพลังงานน้ำ Sana Kham บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ในขณะนี้ทาง GULF อยู่ระหว่างเจรจาค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซกอง 4 เอ และ 4 บี บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH มีสัดส่วนการถือหุ้น 60% บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มีสัดส่วนการถือหุ้น 20% และ Lao World Engineering & Construction Co., Ltd. ถือหุ้นสัดส่วน 20% โดยโครงการนี้จะขายไฟฟ้าให้กับไทยในสัดส่วน 90% และส่งเข้าโครงข่ายของสปป.ลาว 10%
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เป็นผู้ดำเนินโครงการ ขณะที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 3 RATCH มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 25%
สำหรับโครงการที่ประเทศไทยได้ซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของสปป.ลาวในปัจจุบันมีอยู่ 8 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเทิน-หินบูน, โรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเหาะ, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย, โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 ที่เตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2565
อย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาวนั้นมีอยู่หลายโครงการทั้งที่เป็นโครงการขนาดเล็กระดับหลัก 10 เมกะวัตต์ หลัก 100 เมกะวัตต์ไปจนถึงขนาดกำลังการผลิตหลายพันเมกะวัตต์ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่จะส่งขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย โดยเอกชนไทยเป็นผู้ดำเนินการลงทุน บางโครงการก็ลงทุนโดยบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายโครงการก็ต้องติดตามดูว่าแผนพีดีพี 2022 จะขยายกรอบรับซื้อเพิ่มกี่เมกะวัตต์และโครงการใดจะถูกบรรจุในแผนรับซื้อ