PTTราคาน้ำมันหนุนไตรมาส2/64กำไรเพิ่มขึ้น104%

ผู้ชมทั้งหมด 738 

PTT ไตรมาส 2/64 กำไรสุทธิ 2.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% EBITDA อยู่ในระดับ 1.13 แสนล้าน ได้แรงหนุนจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่วนไตรมาส 3 แนวโน้มเศรษฐกิจหดตัว น้ำมันดิบคาดเฉลี่ยในระดับ 72 เหรียญสหรัฐฯ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 24,578.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 104 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12,053.29 ล้านบาท

ส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 113,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 และเพิ่มขึ้น 58,958 ล้านบาท หรือเพิ่มร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563

ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น หลังจากการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ในเดือนมีนาคม 2564 และโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช ที่เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รวมถึงราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบและก๊าซฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ผลการดำเนินงานยังคงแข็งแกร่ง

โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น หลังจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนธุรกิจการกลั่นมีกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ากำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ทรงตัวที่ 1.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการกลั่นรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GRM)ปรับเพิ่มขึ้นจากขาดทุน 1.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส2/2563 เป็นกำไร 4.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส2/2564

ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 3/2564 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากไตรมาส 2/2564 จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่อาจนําไปสู่การดําเนินมาตรการ Lockdown อีกครั้ง แม้ไม่เข้มงวดเท่าในไตรมาส2/2563 ท่ามกลางการเร่งฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง แต่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัสซึ่งส่งผลให้ประสิทธิผลของ วัคซีนลดลง การกระจายวัคซีนที่อาจล่าช้าและไม่ทั่วถึง และการถอนมาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐเร็วเกินไป

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2564 คาดว่าจะหดตัวลงจากไตรมาส2/2564 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัว ท่ามกลางการระบาดใหม่ของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วจนทําให้รัฐบาลจําเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรค เช่น การประกาศ Lockdown ในหลายพื้นที่ สําหรับภาคการท่องเที่ยว ยังคงถูกกดดันจากจํานวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มมีการเปิดพื้นที่นําร่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น “ภูเก็ต แซนบ็อกซ์” และ “สมุย พลัส โมเดล” แล้วก็ตาม

สําหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาส 3/2564 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 72  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส2/2564 ที่เฉลี่ยในระดับ 66.9 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์น้ำามันโลกที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับอุปทานของกลุ่ม OPEC+ ที่จะปรับ เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2564 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.0-2.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล