SUPERพร้อมประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชน400MW

ผู้ชมทั้งหมด 913 

SUPER เตรียมพร้อมที่ดินจ.สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาครเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโควตาใหม่ 400 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงหนองคาย 8 เมกะวัตต์ COD ไตรมาส1/65 ปีหน้าลุยก่อสร้างอีก3 โครงการรวมกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า บริษัท สนใจเข้าร่วมการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ขนาดกำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1)

โดยขณะที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านที่ดิน ซึ่งบริษัทฯ มีที่ดินรองรับแล้วประมาณ 2-3 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจ.สมุทรปราการ จ.ปทุมธานี และจ.สมุทรสาคร ส่วนขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะในมือร่วม 64 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว 2 โครงการอยู่ที่จ.พิจิตร ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และ จ.สระแก้ว ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 โครงการที่ จ.หนองคาย ขนาด 8 เมกะวัตต์คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส1/2565

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีก 3 โครงการในมือที่รอดำเนินการก่อสร้าง คือ ที่จ.เพชรบุรี ขนาด 10 เมกะวัตต์ จ.นนทบุรี ขนาด 20 เมกะวัตต์ และจ.นครศรีธรรมราช ขนาด 20 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของ จ.เพชรบุรี มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2565

ทั้งนี้โครงการที่จ.นนทบุรี และจ.นครศรีธรรมราชนั้นได้เซ็นสัญญารับกำจัดขยะกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเทศบาลไปเรียบร้อยแล้ว เหลือดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ แล้วจึงลงนาม PPA ก่อนเริ่มก่อสร้างต่อไป ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ จะทยอย COD ในช่วงปี 2566-2576

สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนราว 100-150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่บรรจุไว้ในเงื่อนและหลักเกณฑ์การเปิดประมูลโครงการ (TOR) เช่น ระบบสโตกเกอร์ (Stoker) เผาตรง จะอยู่ที่ 120 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และระบบเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) จะอยู่ที่ประมาณ 140-150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เป็นต้น