ผู้ชมทั้งหมด 618
GPSC อัดงบ 500 ล้านเหรียญฯ รุกถือหุ้น 25% พลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวันขนาดกำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ช่วยหนุนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,294 เมกะวัตต์
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งถือหุ้น 100% โดย GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (“CIP”) ในนามของกองทุน Copenhagen Infrastructure II K/S (CI-II) และ Copenhagen Infrastructure III K/S (CI-III) เพื่อร่วมมือในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang and Xidao ในไต้หวัน
โดย GRSC จะเข้าถือหุ้น 25% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งไต้หวันคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ GRSC มีสัดส่วนกำลังการผลิต 149 เมกะวัตต์ของขนาดกำลังการผลิตรวมทั้งโครงการ 595 เมกะวัตต์
ดังนั้นการลงทุนของบริษัท GRSC ในครั้งนี้จะส่งผลให้ GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,294 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,761 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ และกระจายแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกให้มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายการลงทุนตามกลยุทธ์ของธุรกิจในการเติบโตด้านพลังงานทดแทนในกลุ่มตลาดเป้าหมายต่อไป
ทั้งนี้แผนพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งดังกล่าว กำหนดแผนการติดตั้งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 96 เมกะวัตต์ในปี 2565 และระยะที่ 2 คาดจะ COD ในปี 2566 อีกจำนวน 499 เมกะวัตต์ นับเป็นโครงการขนาดใหญ่สามารถจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมได้มากกว่า 600,000 ครัวเรือน โดยโครงการนี้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปีกับบริษัท Taiwan Power Company
“ไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชั้นนำของโลก รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดในทุกประเภท จะเห็นจากอัตราการใช้พลังงานทางเลือกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กลุ่ม GPSC ตัดสินใจเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวซึ่งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมในไต้หวันได้อีก” นายวรวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการลงทุนดังกล่าวจะต้องดำเนินการยื่นขออนุมัติการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Approval) และขออนุมัติจาก Ministry of Economic Affairs ของไต้หวันต่อไป โดยหลังจากการซื้อขายหุ้น CI-II และ C-III ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินการหลักของโครงการ CFXD