“ไทยออยล์”ประเมินราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้จะผันผวน

ผู้ชมทั้งหมด 589 

ไทยออยล์” ประเมินราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้จะผันผวน หลังกลุ่มโอเปกพลัสขัดแย้งนโยบายการผลิต คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ ( 12 – 16 ก.ค. 64) จะผันผวน หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ไม่สามารถข้อตกลงเรื่องลดกำลังการผลิตได้เนื่องจากการประชุมยืดเยื้อระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค. และต่อเนื่องในวันที่ 5 ก.ค. 64 และยังไม่มีการกำหนดวันประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัสนำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ส.ค. 64 จนถึง ธ.ค. 64 โดยจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตราวเดือนละ 4 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 64 และพิจารณาที่จะยืดระยะเวลานโยบายลดกำลังการผลิตจากเดิมสิ้นสุด เม.ย. 65 ไปยังปลายปี 65 เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่เห็นด้วยกับการยืดระยะเวลานโยบายลดกำลังการผลิตไปสิ้นสุดปลายปี 65 รวมถึงเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกพลัสพิจารณาเพิ่มระดับการโควต้าการผลิตอ้างอิง (baseline production) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จากเดิมมีโควต้าการผลิตอยู่ที่ 3.168 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 3.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการลงทุนกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการระบุว่านอกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมี อาเซอร์ไบเจน คูเวต คาซัคสถาน และไนจีเรีย ที่เรียกร้องขอเพิ่มโควต้าการผลิตอ้างอิงเช่นกัน

ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ฉบับเดือน ก.ค. 64 คาดความต้องการน้ำมันโลกปี 64 เพิ่มขึ้นราว 5.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 63 แตะระดับ 97.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 5.41 ล้านบาร์เรลต่อวันจากรายงานฉบับเดือน มิ.ย. 64  โดย EIA คาดว่าภูมิภาคยุโรปจะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น หลังคลายมาตรการล็อดดาวน์ แต่ภูมิภาคเอเซียจะกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังยังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 101.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 64 ราว 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้านปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สัปดาห์สิ้นสุด 2 ก.ค. 64 จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 5 แท่นแตะระดับ 475 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 212 แท่นหรือราว 81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 63 ตามรายงานของ Baker Hughes

นอกจากนี้ EIA ยังคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังของปี 64 จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 11.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังถือว่าลดลง 210,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 63 โดยมองว่าอุปทานน้ำมันดิบทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งอาจมากกว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม EIA คาดว่าปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯปี 65 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 0.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 64 แตะระดับ 11.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังราคาน้ำมันดิบอาจทรงตัวในระดับสูง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปยุโรปเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูงที่ราว 50% ตามรายงานของบลูมเบิร์ก ทำให้หลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และเริ่มมีการเปิดประเทศ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามหลายประเทศในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อันเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ต้องมีการประกาศบังคับใช้มาตรล็อคดาวน์

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ EcoFin Meeting ของกลุ่มยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักรเดือน มิ.ย. 64 จีดีพีจีนไตรมาส 2/64 การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่น