ผู้ชมทั้งหมด 694
กฟผ. จับมือ ปตท. ลงทุนโครงการคลัง LNG หนองแฟบ ขนาด 7.5 ล้านตัน หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และเสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในประเทศ โดยที่ปรึกษา กฟผ. จะเร่งดำเนินการประเมินมูลค่าโครงการดังกล่าวเพื่อกำหนดเงินการลงทุนในส่วนของ กฟผ. ให้มีความที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564 ก่อนเสนอขออนุมัติจาก ครม. ต่อไป โดยคาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565
การลงนามครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมติในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 (Rev.1) ระบบท่อส่งก๊าซฯ และ LNG Terminal โดยให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี (MTPA) คาดการณ์เงินลงทุนเบื้องต้น ประมาณ 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ เป็นคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซ LNG แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นต่อจาก LNG Receiving Terminal มาบตาพุด จ.ระยอง ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) โดยมีมูลค่าการลงทุน 38,500 ล้านบาท เริ่มก่อตั้งในปี 2562 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อรองรับการนำเข้า LNG 7.5 ล้านตันต่อปี โดย กฟผ. จะเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน
50 : 50 และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกัน ทำให้ขยายขีดความสามารถในการนำเข้า LNG ของประเทศไทยจากเดิม 11.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 19 ล้านตันต่อปี นับเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล