SCGP ศึกษาตั้งโรงงานในสหรัฐฯ รับมือขึ้นภาษี คาดชัดเจนเร็วๆนี้

ผู้ชมทั้งหมด 77 

SCGP เตรียมศึกษาโอกาสเข้าไปลงทุนธุรกิจ Rigid Packaging ในสหรัฐฯ รับมือ นโยบายปรับขึ้นภาษี คาดชัดเจนเร็วๆนี้ มั่นใจผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี2568 โตขึ้นจากไตรมาส 1 รับวอลุ่มการขายเพิ่ม แม้ราคาคงที่ หนุน EBITDA margin คาดไตรมาส 3 ชัดเจนทำดีล M&P

การประกาศนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าแบบฐานขั้นต่ำในอัตรา 10% จากทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ซึ่งจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 37%

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า การรับมือจากมาตรการภาษี (Reciprocal Tariff) SCGP ได้เตรียมแผนเชิงรุก มุ่งปรับตัวรวดเร็ว สร้างความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านคุณภาพสินค้า ความร่วมมือ สร้างความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence) เพื่อส่งมอบสินค้า บริการและโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้า

อีกทั้ง บริษัทฯ ยังได้เตรียมแผนการใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงแผนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง อีกทั้งยังมีการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และการจ้างผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้ เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในยุโรปตะวันออก 

นอกจากนี้ บริษัท มีแนวคิดศึกษาจัดตั้งโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการภาษี (Reciprocal Tariff) ซึ่งการจะเข้าไปลงทุนนั้น จะต้องไปพร้อมกับความร่วมมือกับพันธมิตร แต่คงไม่ใช่ลักษณะการควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A)

“ที่ประชุมบอร์ด มีมติให้บริษัทเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบแข็งตัว (Rigid Packaging) เช่น ถ้วย ถาดอาหาร แก้วพลาสติก โดยสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อหารือกับพันธมิตรในสหรัฐฯ ซึ่งเดิมทีในช่วงโควิด-19 บริษัทมีแผนจะลงทุนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากต้นทุนการลงทุนที่สูงเกินไป จึงยังไม่ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงาน แต่ทำเพียงธุรกิจ Warehouse แต่หลังจากที่ “ทรัมป์” มีนโยบายเรื่อง Tariff เลยทำให้ตัดสินใจว่าควรเข้าไปลงทุน เพื่อลดผลกระทบจากนโยบาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการลงทุนเร็วๆ นี้”

ส่วนแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่า อาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ความต้องการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตจากนโยบายกระตุ้นภายในประเทศ โดยคาดว่า GDP จะเติบโตเฉลี่ย 2-7% ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยที่ยังคงสูงกว่าภูมิภาคอื่น และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่มสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้า สำหรับต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลและค่าขนส่งมีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อยจากความต้องการในภูมิภาค ขณะที่ต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มทรงตัว และมีความท้าทายจากภาคการส่งออกที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“ไตรมาส 2 คาดว่า วอลุ่มจะยังเติบโต แต่ราคาขายอาจคงที่ ขณะที่ EBITDA margin จะยังเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ขณะที่ช่วงไตรมาส 3 บริษัทคาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุนควบรวมกิจการและร่วมมือกับพันธมิตร(M&P) ที่ขณะนี้มีการพูดคุยอยู่ประมาณ 2 ราย ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายการใช้งบลงทุนในปี 2568 ที่ตั้งไว้ 13,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังเดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตด้วยการมุ่งเน้นขยายตลาดในอาเซียน รวมถึงการเพิ่มโอกาสใหม่ในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เพื่อนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร โดยได้ร่วมลงทุนในบริษัทโฮวะ แพ็คเกจจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วน 25% กับ Howa Sangyo Company Limited เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียก ด้วยกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนมิถุนายนปีนี้

และเดินหน้ากลยุทธ์การเติบโตในตลาด Healthcare Supplies ด้วยการผสานความร่วมมือกับ Once Medical Company Limited (Once) นำความเชี่ยวชาญมาผลิตหลอดฉีดยาและเข็มฉีดยาที่บริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด (VEM-TH) ในประเทศไทย ด้วยงบลงทุนประมาณ 142.3 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม ปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้ากระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยาของประเทศไทย และช่วยเพิ่มโอกาสการขายผ่านช่องทางของ Deltalab, S.L. ในประเทศสเปนด้วย