“มนพร” เพิ่มเที่ยวบินนครพนม 12 เที่ยวต่อวัน อัดงบ 165.99 ล้านพัฒนาสนามบิน

ผู้ชมทั้งหมด 98 

“มนพร” เพิ่มเที่ยวบินลงนครพนม 12 เที่ยวต่อวัน อัดงบ 165.99 ล้านบาท พัฒนาสนามบิน เปิดเมืองอีสานตอนบน นครพนม – สกลนคร – มุกดาหาร ดันเป็นเมืองน่าเที่ยวตลอดปี

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานนครพนม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 และการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) พร้อมประชุมติดตามการดำเนินงานหน่วยงานในกำกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) 

นางมนพร กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งในปี 2568 รัฐบาลจะผลักดันให้เป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว พร้อมปรับรูปแบบเมืองรองการท่องเที่ยวเป็น “เมืองน่าเที่ยว” ทั่วไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย ด้วยการทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 จังหวัดภาคอีสานตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เดินหน้าพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถเดินทางได้สะดวกและครอบคลุมทุกมิติ สำหรับการคมนาคมทางอากาศได้ผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานคมนาคมและสายการบิน เพิ่มเส้นทางการบินมายังท่าอากาศยานนครพนมและสกลนคร เพื่อสนับสนุนและยกระดับเมืองท่องเที่ยวตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลที่สอดคล้องกับนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย 

ปัจจุบันท่าอากาศยานนครพนม มี 3 หลุมจอด สามารถเดินทางด้วยสายการบินพาณิชย์ในประเทศ รวม 12 เที่ยวบิน ด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชีย 8 เที่ยวบินต่อวัน และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ (เริ่มวันที่ 19 มิถุนายน 2568) 4 เที่ยวบินต่อวัน ในส่วนของท่าอากาศยานสกลนคร มี 4 หลุมจอด สามารถเดินทางด้วยสายการบินพาณิชย์ในประเทศ รวม 8 เที่ยวบิน ให้บริการด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชียและนกแอร์ สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร ปัจจุบันและอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นางมนพร ได้สั่งการให้ ทย. จัดพื้นที่ภายในและบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานให้เกิดความสะดวก สะอาด และรวดเร็วแก่ผู้โดยสาร กำชับเรื่องการจัดเตรียมไฟฟ้าสำรองในทุกท่าอากาศยานเมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉิน บริหารจัดการจุด Check in ให้มีความคล่องตัวไม่ติดขัด รวมถึงให้เข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสิ่งของผิดกฎหมาย พร้อมจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางไปยังสถานที่ภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง สามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงการจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยานตามแนวคิด “สนามบินมีชีวิต” เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของจังหวัด ชูจุดเด่นด้านต่าง ๆ ของจังหวัด สนับสนุนร้านค้าท้องถิ่นในชุมชนหรือจัดงานตามวันเทศกาลที่สำคัญของไทยภายในท่าอากาศยาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย 

จากนั้น นางมนพร ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ และเป็นประธานพิธีปิดโครงการ “โดรนเกษตรปลอดภัย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บวท. กับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีโดรน เพื่อการเกษตรหรือ “นครพนมโมเดล” ทั้งในส่วนของการให้ความรู้เกี่ยวกับห้วงอากาศอย่างปลอดภัยและการบินโดรนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในพื้นที่นำร่องประมาณ 22 ไร่ ณ แปลงนาสาธิตผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ กข22 บ้านพนอม อำเภอท่าอุเทน ซึ่งจากการดำเนินโครงการพบว่า เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้นและมีรายได้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการแจกข้าวเหนียวคุณภาพดีจากแปลงสาธิตให้ผู้ร่วมงานด้วย โดยหลังจากนี้จะขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ทั่วประเทศ ตามนโยบาย 1 ตำบล 1 โดรนการเกษตรของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีทำการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน ลดการสัมผัสยาฆ่าแมลง เพิ่มคุณภาพชีวิตและรายได้ให้เกษตรกรอย่ายั่งยืน

นอกจากนี้ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ณ หอควบคุมการจราจรทางอากาศนครพนม ที่ให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศเขตสนามบินครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ ระยะ 9 กิโลเมตร ความสูง 2,000 ฟุต จากพื้นดิน โดยภายในหอควบคุมฯ มีความพร้อมเกี่ยวกับการบริการเครื่องอำนวยความสะดวกการเดินอากาศ อาทิ DVOR/DME ILS/DEM NDB และ Instrument Approach Chart ระบบเรดาร์ที่ใช้สัญญาณจาก SSR อุดรธานี และระบบควบคุมจราจรทางอากาศอัตโนมัติ (TopSky Tower) ทั้งนี้ นางมนพรได้เน้นย้ำถึงมาตรการการยกระดับการให้บริการจราจรทางอากาศให้มีศักยภาพสามารถรองรับได้เต็มประสิทธิภาพของท่าอากาศยาน การจัดให้มีระบบอุปกรณ์ และเครื่องช่วยการเดินอากาศด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด เพื่อลดความล่าช้าของเที่ยวบิน ทั้งที่ท่าอากาศยานต้นทางและปลายทาง

นางมนพร กล่าวต่ออีกว่า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานได้มอบหมายให้ ทย. ดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนครพนมในปี 2568 ด้วยงบประมาณกว่า 165.99 ล้านบาท ดำเนินการแล้ว 4 โครงการ ประกอบด้วย งานปรับปรุงระบบประปา งานซื้อและติดตั้งผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น จัดหาพร้อมติดตั้งระบบตรวจสอบรถยนต์เข้า – ออก และอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 โครงการ ประกอบด้วย งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าสนามบินทั้งระบบ จัดหารถดับเพลิง ระบบกริ่งสัญญาณเตือนฉุกเฉิน และงานก่อสร้างระบบจ่ายน้ำดับเพลิงอากาศยาน สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานสกลนคร มีแผนงานดำเนินโครงการด้วยงบประมาณ 4.29 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย งานปรับปรุงระบบจ่ายไฟสำรองอัตโนมัติ (UPS) จัดหาเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบเดินผ่าน (Walk Through) และงานระบบจ่ายน้ำดับเพลิงอากาศยาน

สำหรับ บวท. ได้ดำเนินโครงการในปี 2568 – 2572 ด้วยงบประมาณรวม 359.47 ล้านบาท จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ 1) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบช่วยการเดินอากาศ ILS/DME (Instrument Landing System / Distance Measuring Equipment) งบประมาณ 208.91 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2569 2) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบ Digital Voice Recording and Replay System งบประมาณ 40.11 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้เดินทางไปการทดสอบและทดลองที่โรงงาน (Factory Acceptance Test: FAT) ณ โรงงานผู้ผลิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เรียบร้อยแล้ว 3) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการจ่ายไฟฟ้าสำรอง UPS ณ สถานี NDB และอาคารหอควบคุมการจราจรทางอากาศ งบประมาณ 58.13 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติร่างขอบเขตงาน (TOR) และ 4) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการจ่ายไฟฟ้าสำรอง UPS ณ สถานี Localizer งบประมาณ 52.32 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนร่าง TOR