ผู้ชมทั้งหมด 43
“มนพร” ลงพื้นที่ชุมพร – สุราษฎร์ฯ ผลักดัน พ.ร.บ. SEC เตรียมเสนอครม. พ.ค.นี้ ก่อนเสนอสภาฯ ก.ค. 68 มั่นใจผ่านฉลุย พร้อมลุยประมูล “แลนด์บริดจ์” กลางปี 69 ตอกเสาเข็มปี 70 เปิดบริการเฟสแรกปี 73 เอกชนแนะให้รองรับค้าขายน้ำมันทั้งสองฝั่งด้วย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่มาประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และนครศรีธรรมราช เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) และการลงทุนพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ร่วมถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. ซึ่งทุกหน่วยงานที่ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในวันนี้ถือเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดของภาคใต้
โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างสองฝั่งทะเลที่สามารถเชื่อมโยงไทยไปสู่ภูมิภาคเอเชีย และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศในการพลิกโฉมการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.SEC) เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การหารือร่วมกันในวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังเสียงจากเจ้าของพื้นที่ทั้งในด้านมุมมองของการพัฒนาพื้นที่ ประเด็นข้อห่วงใยต่างๆ และปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและเป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป


อย่างไรก็ตามการดำเนินการจัดทำ พ.ร.บ. SEC คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและร่าง พ.ร.บ.SEC ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังจะเริ่มเปิดประชุมสามัญในวันที่ 3 ก.ค.นี้ และคาดว่ากระบวนการพิจารณาเหล่านี้จะแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปีนี้ และเมื่อร่างพ.ร.บ.SEC ประกาศใช้ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามันได้เร่งรัดให้ออกแบบและก่อสร้างระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการผลิตและการคมนาคมขนส่งของเอเชีย
เร่งจัดทำพ.ร.บ.SEC ลุยประมูลแลนด์บริดจ์

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นส่วนของร่างพ.ร.บ.SEC ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคมและ สนข. ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นราว 9,000 คน ซึ่งพบว่ากว่า 8,000 คนเห็นด้วยกับการพัฒนา พ.ร.บ.SEC และแลนด์บริดจ์ โดยมีประชาชนราว 700 คนที่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ ข้อกังวลเกี่ยวกับการจ้างงานในพื้นที่ ข้อกังวลเกี่ยวกับการชดเชยผลกระทบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ สนข.มีการศึกษารองรับแล้ว และได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ และจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในกรุงเทพฯ ด้วย
สำหรับการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์นั้นแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 เฟส โดยจากผลการศึกษาของโครงการนั้นมีมูลค่าการลงทุนรวม 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท, โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) 1.4 แสนล้านบาท และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
ส่วนความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันการออกแบบท่าเรือเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบเส้นทางมอเตอร์เวย์ ออกแบบเส้นทางรถไฟ ส่วนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุภาพ (EHIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน พร้อมได้ดำเนินการจัดทำเอกสารประกวดควบคู่ไปด้วย โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ประมาณกลางปี 2569 ได้ตัวเอกชนมาลงทุนปลายปี 2569 พร้อมดำเนินการก่อสร้างในปี 2570 แล้วเสร็จปี 2573 ซึ่งโครงการนี้จะประกวดราคาเป็นสัญญาเดียวโดยเอกชนสามารถร่วมกลุ่มพันธมิตรกิจการร่วมค้าเข้าร่วมประมูล เบื้องต้นคาดว่าการลงทุนระยะที่ 1 (เฟส 1) มีกรอบวงเงินลงทุนราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกฝั่งจ.ระนอง และฝั่งจ.ชุมพร มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่


เอกชนแนะให้แลนด์บริดจ์รองรับค้าขายน้ำมันด้วย
นายตริน พงษ์เภตรา ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จุดยุทธศาสตร์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอยู่เชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน และขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังมีการค้าน้ำมันระหว่างอ่าวมะละกา ทั้งส่วนของน้ำมันสุกและน้ำมันดิบ แต่จะมีการค้าขายได้ต้องผ่านทางสิงคโปร์ ดังนั้นถ้าจะมีแลนด์บริดจ์ขึ้นมา ในฐานะภาคเอกชนอยากให้มีการพัฒนาเพื่อรองรับค้าขายน้ำมันทั้งสองฝั่งด้วย เพื่อรับดีมานด์ส่วนนี้ รวมทั้งอยากให้เรียนรู้จากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และให้ทำงานร่วมกันคนไทย ธุรกิจของคนไทยได้ด้วย
นายกิตติ กิตติชนม์ธวัช ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดชุมพร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพัฒนา พ.ร.บ.SEC และเห็นด้วยที่ต้องพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ส่วนปัญหาเขตอำเภอพะโต๊ะที่มีข้อกังวลเรื่องเขตอุตสาหกรรม ก็มองว่าเรื่องนี้ต้องชี้แจงและชดเชยชาวบ้าน โดยเฉพาะเขตป้าไม้ที่ประชาชนได้ปลูกแล้วก็ควรให้สิทธิชดเชยเจรจาให้เหมาะสม ส่วนเขตนิคมอุตสาหกรรมที่อาจจะพัฒนาในอนาคตก็ให้จัดพื้นที่อย่างชัดเจน ส่วนปัญหาเรื่องน้ำก็ขอเสนอแนะให้สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น เชื่อว่าหากแก้ปัญหาเหล่านี้จะตอบโจทย์ประชาชน