ผู้ชมทั้งหมด 1,126
“สกู๊ต” เสริมแกร่งฝูงบินใหม่ 16 ลำหนุนศักยภาพด้านการบินรองรับอุตสาหกรรมฟื้นตัว วางเป้า 1-2 ปีกลับมาเปิดบิน 68 เส้นทางบิน ยันไทยยังเป็นตลาดสำคัญ
นายแคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ตกล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังจากหลายประเทศได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด – 19 โดยในระยะ 1-2 ปี สายการบินสกู๊ตตั้งเป้าหมายที่จะกลับมาทำการบินให้ได้ 68 เส้นทางบินเดิมจากที่ปัจจุบันได้ทยอยเปิดให้บริการแล้ว 26 เส้นทาง
พร้อมกันนี้สกู๊ตยังได้ทำการศึกษาการเปิดเส้นทางใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเส้นทางสิงคโปร์มายังไทย และขยายเส้นทางบินจากไทยไปยังประเทศอื่นด้วย โดยเฉพาะในทวีปเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากร การเป็นสายการบินราคาประหยัดจะตอบโจทย์ภูมิภาคนี้อย่างมาก
ขณะเดียวกันสกู๊ตยังเตรียมกลับมาให้บริการในเส้นทางที่เคยทำการบินอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์–เชียงใหม่ สิงคโปร์–หาดใหญ่ สิงคโปร์–กระบี่ และ สิงคโปร์–กรุงเทพฯ–โตเกียว เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 คลี่คลาย จากในปัจจุบัน สกู๊ตให้บริการในเส้นทาง สิงคโปร์–กรุงเทพฯ (สนามบินสุวรรณภูมิ) จำนวน 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งตนมั่นใจว่าหลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติเส้นทางบินในประเทศจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยประเทศไทยยังถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของสกู๊ตมาตลอด
อย่างไรก็ตามการกลับมาให้บริการบินใหม่นั้นจะกลับพร้อมบริการภายใต้มาตรการที่เข้มงวด มีการตรวจหาเชื่อโควิด – 19 ให้กับลูกเรือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร และเตรียมการหลายอย่างเพื่อให้สายการบินพร้อมสำหรับความปกติใหม่นี้ โดยลูกเรือได้รับวัคซีนครบ 100% และยังออกประกันเดินทางที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19 ในพื้นที่ที่สามารถทำได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้โดยสาร
นอกจากนี้ สกู๊ต ยังเตรียมรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A321neo ซึ่งตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2020/2021 จนถึงปัจจุบัน สกู๊ตได้รับการส่งมอบเครื่องบิน A321neo แล้ว จำนวน 3 ลำ (ผ่านการเช่าแบบลีสซิ่งจาก BOC Aviation) จากจำนวนทั้งหมด 16 ลำ ซึ่งประกอบด้วย 6 ลำที่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อเดิมจาก A320neo มาเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ และเป็นเครื่องบินเช่าอีก 10 ลำ นอกจากนี้ สกู๊ตได้ปลดประจำการเครื่องบิน A320ceo จำนวน 5 ลำ ตามแผนการปรับปรุงฝูงบิน
สำหรับฝูงบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันของสกู๊ต ประกอบด้วย เครื่องบินแบบมีช่องทางเดินเดียว จำนวน 29 ลำ ได้แก่ A320ceo 21 ลำ A320neo 5 ลำ และ A321neo 3 ลำ นอกจากนี้ ยังมี A320neo 28 ลำ และ A321neo อีก 13 ลำ ที่กำลังรอการส่งมอบ ส่วนเครื่องบินแบบลำตัวกว้างของสกู๊ตมีจำนวน 20 ลำ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 ทั้งหมด และกำลังรอการส่งมอบเพิ่มอีก 7 ลำ โดยอายุเฉลี่ยของฝูงบินของสกู๊ตในขณะนี้อยู่ที่ 5 ปี 10 เดือน ซึ่งเครื่องบินรุ่นใหม่จะช่วยเสริมจุดแข็งด้านการแข็งขันให้กับสกู๊ต
ทั้งนี้เครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A321neo นั้นสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 236 ที่นั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรุ่น A320neo ถึง 50 ที่นั่ง และทำการบินได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น เปิดโอกาสการขยายเครือข่ายการบินใหม่ๆ โดยเครื่องบินรุ่นใหม่ของสกู๊ต แอร์บัส A321neo มีพิสัยการบินสูงสุดถึง 2,620 ไมล์ทะเล หรือ 4,852 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าเครื่องบินรุ่น A320neo ประมาณ 270 ไมล์ทะเล ทำให้สกู๊ตสามารถให้บริการในเส้นทางบินระยะสั้นถึงระยะกลางได้ ด้วยเวลาบินสูงสุดถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งเทียบกับเครื่องบินรุ่นก่อนอย่าง A320 ที่มีรอบการบินอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังประหยัดเชื้อเพลิงทำให้สกู๊ตสามารถบริหารความคุ้นทุนและควบคุมต้นทุนต่อหน่วยได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยให้สายการบินสามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและความต้องการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย
โดยในระยะยาว เครื่องบินแอร์บัส A321neo จะช่วยให้สกู๊ตสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น ด้วยปลายปีก Sharklets และเครื่องยนต์อากาศยานแพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ รุ่น PW1100G-JM ที่ช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อเทียบกับบันทึกก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ปริมาณการปล่อยมลพิษทางเสียงและก๊าซไนโตรเจนออกไซด์นั้นลดลงกว่า 50%[1] รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 5,000[2] ตันต่อปี ต่อเครื่องบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของสกู๊ตในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ ภายในปี 2050