ปตท.หั่นราคา NGV ทั่วไป ลงครั้งแรกของปี68 เหลือ 18.45 บาทต่อกิโลกรัม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ผู้ชมทั้งหมด 560 

ความนิยมใช้ “ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์” หรือ “ก๊าซ NGV” ในปัจจุบันลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันเริ่มถูกลง และนโยบายภาครัฐที่หันไปส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล

ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยข้อมูล การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย รอบ 2 เดือนแรก ปี 2568 (เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์) พบว่า การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.51 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 15.2% และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง

แม้ว่าการใช้ก๊าซNGV ในปัจจุบันจะลดลงมาก แต่ก็ยังไม่สามารถยกเลิกการจำหน่ายได้ในทันที เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถ NGV ที่ยังไม่มีกำลังในการปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ประเภทอื่นแทน ภาครัฐจึงขอความมือให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแบกรับภาระส่วนต่างราคามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบัน ปตท.จะทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับผู้ใช้รถทั่วไป แต่ในส่วนของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ปตท.ก็ยังคงทำหน้าที่แบกรับภาระส่วนต่างราคาต่อไป โดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 ก.ค. 2567 – 31 ธ.ค.2568)

โดยที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้ขอความร่วมมือ ปตท. ช่วยตรึงราคา  NGV มาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย ปตท. ได้จัดทำเป็น “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” และช่วยตรึงราคา NGV ไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ใช้ NGV ทุกราย โดยตลอดปี 2564-2566 ปตท. ได้แบกรับภาระค่า NGV ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท 

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ในปี 2567 กระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศยังชะลอตัว จึงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ช่วยตรึงราคา NGV ต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2568 ดังนั้นทาง ปตท. จึงได้ปรับเปลี่ยนจาก “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” มาเป็น “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” พร้อมกับการปรับเปลี่ยนราคาใหม่

โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป จะไม่ได้รับการช่วยเหลือและต้องซื้อ NGV ในราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะจะยังได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็มีการขยับราคาจากที่ตรึงไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นมาเป็น 15.59 บาทต่อกิโลกรัมจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาระค่า NGV ที่ ปตท. ต้องแบกรับไว้ลดลง เหลือประมาณปีละเกือบ 1,100 ล้านบาท จากเดิม 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) แบกภาระต้นทุน NGV ไว้ถึงประมาณ 17,000  ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปตท. สนับสนุนส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไปและกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นมูลค่า 18,259 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 9 เม.ย. 2568

ส่วนการปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป ทาง ปตท.จะพิจารณาราคาทุกๆ 1 เดือน โดยล่าสุด ปตท. ประกาศปรับลดราคา NGV ทั่วไป จำนวน 35 สตางค์ต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคา อยู่ที่ 18.45 บาทต่อกิโลกรัม มีผลระหว่างวันที่ 16 เมษายน 2568 ถึง 15 พฤษภาคม 2568 จากเดือนที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 18.80 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบปี 2568 เพื่อสะท้อนกลไกต้นทุนที่แท้จริง

ขณะที่การปรับราคา NGV สำหรับรถโดยสารธารณะ ล่าสุด รอบวันที่ 16 เมษายน 2568 ถึง 15 พฤษภาคม 2568 ราคามีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

กลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ หมวด 1 และหมวด 4 (ไม่รวมรถ ขสมก.) ราคาคงเดิม อยู่ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ หมวด 2 และหมวด 3 ราคาปรับลดลง 0.14 บาทต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 18.45 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นราคาที่เท่ากับราคา NGV ทั่วไป อยู่ที่ 18.45 บาทต่อกิโลกรัม)

ทั้งนี้ การปรับราคา NGV ทั่วไป ของ ปตท.ในรอบปี 2568 มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ครั้งที่ 1 รอบวันที่ 16 ม.ค. – 15 ก.พ. 2568 คงราคา อยู่ที่ 17.90 บาทต่อกิโลกรัม

ครั้งที่ 2 รอบวันที่ 16 ก.พ. – 15 มี.ค. 2568 ปรับขึ้น 80 สตางค์ อยู่ที่ 18.70 บาทต่อกิโลกรัม

ครั้งที่ 3 รอบวันที่ 16 มี.ค. – 15 เม.ย. 2568 ปรับขึ้น 10 สตางค์ อยู่ที่ 18.80 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาสูงสุดของปี 2568

ครั้งที่ 4 รอบวันที่ 16 เม.ย.- 15 พ.ค. 2568 ปรับลง 35 สตางค์ อยู่ที่ 18.45 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่ ทิศทางราคา NGV ในอนาคต ตาม (ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) มีการกำหนดให้ราคา NGV ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดตั้งแต่ปี 2567-2575 พร้อมสนับสนุนให้เปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนรถที่ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) และ NGV ดั้งเดิม ตามนโยบาย 30@30 หรือ มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะต้องดำเนินการภายในปี 2567-2580 โดยตั้งเป้าหมายให้ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)การผลิตยานยนต์ในประเทศจะต้องเป็น EV อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด