ผู้ชมทั้งหมด 1,055
กฟผ. เตรียมเสนอก.พลังงานบรรจุโซลาร์ลอยน้ำ 5,000 เมกะวัตต์ในแผนพีดีพี 2022 ยันมีศักยภาพทำได้มากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แถมต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ พร้อมเปิดประมูลโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์ปลายปีนี้
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเสนอกระทรวงพลังงานให้พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อน (Hydro-floating Solar Hybrid) เพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์บรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2022) จากที่แผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ปี 2561-2580 บรรจุการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 16 โครงการ รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ เนื่องการมองว่าการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. นั้นสามารถดำเนินการลงทุนได้ในทุกเขื่อน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเขื่อนขนาดใหญ่ของกฟผ.มีศักยภาพลงทุนได้มากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนบางลาง เป็นต้น
ขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนก็เฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1.50 บาทต่อหน่วยยังไม่รวมสายส่ง ซึ่งถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นและยังถูกกว่าการลงทุนก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม เนื่องจากเทคโนโลยีมีต้นทุนที่ลดลง การลงทุนระบบสายส่งก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเพราะในพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในเขื่อนมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งระบบสายส่ง สถานีไฟฟ้าย่อย ซึ่งการลงทุนขนาด 5,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนราว 50,000 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้วในแต่ละเขื่อนยังสามารถลงทุนได้หลายเมกะวัตต์ อย่างเช่น เขื่อนสิรินธร ปัจจุบันมีการลงทุน 45 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้พื้นที่ไปเพียง 1% ของพื้นน้ำในเขื่อน โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรอยู่ในระดับ 1.50 บาทต่อหน่วย และเตรียมเดินเครื่องผลิตจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในเดือนกันยายน 2564 จากเดิมกำหนด COD ในเดือนกรกฎาคม 2564
“โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนถือว่ามีประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้ค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำแล้ว ยังเป็นโครงการที่เสริมศักยภาพการผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศในน้ำอีกด้วย ซึ่งตนขอย้ำว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ถูกมากเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น” นายบุญญนิตย์ กล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับการลงทุนโครงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ตามแผนพีดีพี 2018 Rev.1 จากที่ได้หารือในเบื้องต้นกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน อาจจะต้องเร่งดำเนินการลงทุน และ COD ให้เร็วขึ้นเพราะเป็นโครงการที่มีศักยภาพ และมีประโยชน์ต่อประเทศ โดยอาจจะแบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 ช่วง คือ 5 ปี กับ 10 ปี ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการลงทุนเร็วขึ้นจากปัจจุบันกำหนดดำเนินการถึงปี 2580
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ขนาด 24 เมกะวัตต์ ล่าสุดรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) แล้ว แต่ยังได้ออกประกาศ โดยคาดว่าจะสามารถจัดประกวดราคาได้ในปลายปี 2564 เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 และมีกำหนด COD ในปี 2566 โดยการลงทุนอาจจะเน้นการใช้อุปกรณ์ภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ