ผู้ชมทั้งหมด 9
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนาม MOU โครงการส่งเสริมการใช้ตู้แช่ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติสำหรับเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์สาขา ลดผลกระทบจากสารทำความเย็นที่ทำลายชั้นบรรยากาศ ช่วยลดโลกร้อน
มุ่งสู่ Carbon Neutrality
นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมด้วย นางพัชรินทร์ รพีพรพงศ์ รองผู้ว่าการการเงินและบัญชี (CFO) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมการใช้ตู้แช่ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติสำหรับเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์สาขา รวม 7 แห่ง ภายใต้กองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund: CIF) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ. นายเอกรัฐ สมินทรปัญญา ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุน CIF และผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงาน กปร. กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการเดินหน้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปรับเปลี่ยนการใช้ตู้แช่ที่มีอยู่เดิมเป็นตู้แช่รุ่นใหม่ ที่ใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติ เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน เนื่องจากช่วงที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ดพันธุ์อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำไปเพาะปลูก จึงต้องเก็บรักษาไว้ในที่แห้งและเย็นเพื่อยืดอายุให้ถึงฤดูที่เหมาะสม และเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
นางพัชรินทร์ รพีพรพงศ์ รองผู้ว่าการการเงินและบัญชี (CFO) กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เดินหน้ากองทุน CIF เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนและผลักดันอุตสาหกรรมทำความเย็นสู่การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงนามความร่วมมือเพื่อปรับเปลี่ยนตู้แช่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์สาขา รวม 7 แห่ง ให้เป็นตู้แช่ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทานและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรภายใต้สภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพสูงสุดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเดินหน้าประเทศไทยสู่ Carbon Neutrality อีกด้วย

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย กฟผ. จะร่วมสนับสนุนทางเทคนิคและงบประมาณ ในการติดตั้งและปรับเปลี่ยนตู้แช่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์สาขา รวม 7 แห่ง เป็นตู้แช่ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ Isobutane (R600a) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นประเภทไฮโดรคาร์บอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ ไม่มีความเป็นพิษ และมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ต่ำกว่าสารทำความเย็นแบบเดิม R134a มากกว่า 1430 เท่า อีกทั้งยังมีแรงดันของระบบทำความเย็นต่ำกว่าเดิม ช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5 – 25 และช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าจากการใช้งานตู้แช่ลงด้วย