“กรมราง” จับมือ สมอ. ทดสอบเหล็กงานก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 3-1 ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน

ผู้ชมทั้งหมด 155 

“กรมราง” จับมือ สมอ. ทดสอบตัวอย่างเหล็กงานก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน กรุงเทพฯ – นครราชสีมา สัญญา 3-1 เผยเหล็กตัวอย่างมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ขณะที่การก่อสร้างมีความคืบหน้าภาพรวมร้อยละ 42.914 

นายทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ขร. เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา  สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นที่ใช้ในงานก่อสร้างโครงการดังกล่าวไปทดสอบ โดยมีผู้แทนที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) และผู้แทนกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 ประกอบด้วย ITALIAN-THAI DEVELOPMENT PCL และ CHINA RAILWAY NO. 10 ENGINEERING GROUP CO., LTD JOINT VENTURE ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างสัญญาดังกล่าวร่วมลงพื้นที่ด้วย

สืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคารระหว่างการก่อสร้างของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่พังถล่มลงมา และในคราวประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JC) ครั้งที่ 32  ได้มอบหมายให้ รฟท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณสมบัติเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้างของสัญญา 3-1 ในการนี้ ขร. จึงประสานงาน รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กเส้นเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

โดยรฟท. ได้ร่วมกับท้องถิ่น รวมถึงวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการเก็บตัวอย่างที่โรงเก็บเหล็กมวกเหล็ก ซึ่งจากการสอบถามผลการทดสอบในเบื้องต้นพบว่า เหล็กตัวอย่างมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐานของงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยมีค่าความต้านแรงดึงที่จุดคราก (yield strength) ไม่น้อยกว่า 400 MPa มีค่าความต้านแรงดึง (tensile strength) ไม่น้อยกว่า 540 MPa และมีค่าความยืด (elongation) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 16 ด้านส่วนประกอบทางเคมียังต้องรอผล

นอกจากนี้ยังได้มีการลงพื้นที่ในวันที่ 4 เม.ย. ที่โรงเก็บเหล็กทับกวาง เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กที่ใช้ในโครงการสัญญา 3-1 ได้แก่ เหล็กข้ออ้อยชั้นคุณภาพ SD 40 ทั้ง 5 ขนาด ได้แก่ DB 10 ใช้ heat 251371, DB12 ใช้ heat 251047, DB16 ใช้ heat 250976,  DB20 ใช้ heat 251629 และ DB25 ใช้ heat 13253 จำนวนอย่างละ 3 ตัวอย่างไปทดสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย คาดว่าจะทราบผลภายในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ทั้งนี้สัญญา 3-1 มีการใช้เหล็กของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยสตีลโปรไฟล์ จำกัด (มหาชน)

โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร -นครราชสีมา มีความคืบหน้าภาพรวมร้อยละ 42.914  ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า มีความคืบหน้าร้อยละ 8 ซึ่งจากการตรวจสอบงานโครงสร้าง ไม่พบการแตกร้าวเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาแต่อย่างใด

กรมการขนส่งทางราง ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านระบบราง ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงวิธีและขั้นตอนในการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงานก่อสร้างและส่งผลให้โครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการระบบรางต่อไป