ผู้ชมทั้งหมด 243
ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์สายการบิน IndiGo เปิดเส้นทางบินเชื่อมการเดินทางไทย-อินเดีย เพิ่มนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่


เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2568 ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบิน อินดิโก (IndiGo) เที่ยวบินที่ 6E1085 ซึ่งให้บริการด้วยอากาศยานแบบ Airbus A320 เส้นทางบินตรงจาก ท่าอากาศยานนานาชาติฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช นครมุมไบ สู่ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ โดยเที่ยวบินดังกล่าวเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ในเวลา 22.55 น. มีการจัดกิจกรรมต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดชุดการแสดงรำไทยพร้อมกลองยาว แสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และต้อนรับเที่ยวบินแรกโดยการฉีดอุโมงค์น้ำต้อนรับอากาศยาน สร้างความประทับใจ แก่ผู้โดยสาร ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น



นายสุขสวัสดิ์ สุขวรรณโณ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ด้านโครงสร้างพื้นฐาน) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานกระบี่ กล่าวถึง การเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เป็นการเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างประเทศไทยและอินเดีย เพิ่มความสะดวกให้กับนักเดินทางจากอินเดีย ที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวในส่วนของฝั่งอันดามันของไทย คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ได้มากขึ้น โดยรองรับแผนการบินฤดูร้อน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 26 ตุลาคม 2568 โดยทำการบินเส้นทาง มุมไบ (Mumbai) – กระบี่ (Krabi) – มุมไบ (Mumbai) และ เส้นทางบังคาลอร์ ( Bangalore) – กระบี่ (Krabi) – บังคาลอร์ (Bangalore) ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 วันละ 1 เที่ยวบิน
ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่มีศักยภาพในการรองรับสายการบินและผู้โดยสาร ด้วยอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ขนาด 68,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 ล้านคนต่อปี มีความยาวทางวิ่งขนาด 3,000*45 เมตร ลานจอดรองรับอากาศยานขนาด B737 หรือ A330 ได้ 34 ลำ พร้อมอาคารจอดรถยนต์ที่สามารถจอดรถได้กว่า 2,000 คัน
ด้านนายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสของประเทศไทย ” ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) ซึ่งการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามนโยบาย รวมไปถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนอีกด้วย โดยกรมท่าอากาศยานได้มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยาน ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับเที่ยวบิน และสามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับการให้บริการที่เป็นมาตรฐานในทุกท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน