โรงไฟฟ้าขนอมเป็นมากกว่าแหล่งผลิตไฟฟ้า พร้อมเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้

ผู้ชมทั้งหมด 81 

โรงไฟฟ้าขนอม ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคใต้มากว่า 40 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โรงไฟฟ้าขนอมไม่ได้เป็นเพียงโรงไฟฟ้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวบริเวณรอบโรงไฟฟ้าอีกด้วย

โดยพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามีการทำประมง การท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง ไฮไลท์สำคัญคือการนั่งเรือดูโลมาสีชมพู ไหว้หลวงปู่ทวดเกาะนุ้ยนอก ขณะเดี่ยวกันโรงไฟฟ้าขนอมก็มีศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าและกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยปรับปรุงโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแบบพิเศษที่ก่อสร้างบนเรือขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ” แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ ที่ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2524 และหมดอายุสัญญา และหยุดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อปี 2554

สำหรับศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมนั้นเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยนับตั้งแต่ศูนย์เรียนรู้ฯ เปิดดำเนินการจนถึงสิ้นปี 2567 มีผู้เยี่ยมชมรวมกว่า 80,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษา 85% สถิติหลังการเข้าเยี่ยมชมพบว่า ผู้เยี่ยมชมมากกว่า 95% มีความพึงพอใจในนิทรรศการภายในศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้ฯ มีการจ้างงานท้องถิ่น การพัฒนาบุคลากร และการส่งเสริมเครือข่ายในพื้นที่ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละมากกว่า 4.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพ พัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมความภาคภูมิใจให้คนในชุมชนรักและส่งต่อคุณค่าของถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยตนเอง

โรงไฟฟ้าขนอมมีการกิจกรรมร่วมกับชุมชนหลายโครงการ โดยได้ริเริ่มและดำเนินโครงการ “ขนอมโมเดล” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมและโครงการที่โดดเด่นภายใต้ “ขนอมโมเดล” นั้นมีหลายโครงการด้วยกัน อาทิเช่น โครงการ “Smart Farm” แปลงผักอินทรีย์ต้นแบบ ที่ให้ชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาผสานใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อการผลิตอาหารปลอดภัยในครัวเรือน โดยมีวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าขามเกษตรพอเพียง เป็นชุมชนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ครัวเรือนในชุมชนสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้จำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ 

การร่วมกับพันธมิตรจัดกิจกรรม “ข้าวใหม่-ปลามัน” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรด้วยราคาต้นทุนระหว่างชุมชนต่างภูมิภาค โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายและจัดกิจกรรมระหว่างชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความต้องการอาหารทะเลแปรรูปปลอดสารพิษ และชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องการข้าวสารอินทรีย์ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอาหารให้ชุมชน รวมถึงแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ

การร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรับมือกับปัญหาโลกเดือด และทำให้ชุมชนประมงพื้นบ้านสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีนั้นโรงไฟฟ้าขนอมสามารถสะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลของโรงไฟฟ้า ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบหนึ่งโรงไฟฟ้าที่อยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนอมเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 4 (ขนอม 4) ขนาดกำลังการผลิต 970 เมกะวัตต์ เรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่จ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคใต้ในบางจังหวัด ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพื่อเสริมศักยภาพความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้  กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) (แผน PDP ฉบับใหม่)

หากมีการบรรจุโรงไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้ไว้ในแผน PDP ฉบับใหม่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ก็พร้อมเข้าร่วมประมูลแข่งขัน โดยพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมมีพร้อมในการลงทุนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 5 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 730 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ในด้านสิ่งแวดล้อมก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโรงไฟฟ้าขนอม 1 จนถึงโรงไฟฟ้าขนอม 4 นั้นสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี