ผู้ชมทั้งหมด 101
ปตท.สผ.ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมปี68 แตะระดับ 500-510 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รับรู้เพิ่มกำลังผลิตG1/61(แหล่งเอราวัณ)เต็มปี คาดราคาน้ำมันดิบอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซLNG ลดลงอยู่ที่ 5.8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู พร้อมเร่งลงทุนตามแผนปี 5 (ปี2568-2572) วงเงิน 33,587 ล้านดอลลาร์ฯ
จากตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลก ในปี2568 ที่จะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัว โดยความต้องการใช้(ดีมานด์)หลักยังมาจากจีนและอินเดีย ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯและยุโรปยังทรงตัว ประกอบกับยังมีปัญเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ทั้งอิหร่าน-อิสราเอล และรัสเซีย-ยูเครน ,นโยบายโอเปกพลัส ที่ยังคงมาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยล่าสุด มีมาตรการสมัครใจลดกำลังผลิตไปจนถึงเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งต้องติดตามดูว่าหลังจากมี.ค.แล้วจะมีมาตรการอย่างไรต่อ ,นโยบายของนอนโอเปกพลัส ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบอย่างไร ตลอดจนนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ “ทรัมป์” เช่น การตั้งกำแพงภาษีจะมีผลกระทบต่อทิศทาวราคาน้ำมันในระยะยาวอย่างไร

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) ผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมรายใหญ่ของไทย ที่มีภารกิจดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2568 จะทรงตัวอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาLNG Spot คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12-15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 11.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ตามความต้องการใช้ LNG ในจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้น

นายเสริมศักดิ์ สัจจะวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP(ปตท.สผ.) ระบุว่า บริษัทคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนในปี 2568 จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม เฉลี่ยอยู่ที่ 500,000-510,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีปริมาณการขายฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 488,794 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากจะรับรู้กำลังผลิตเต็มปี จากโครงการG1/61(แหล่งเอราวัณ) เฉลี่ยอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งปี 2568 อยู่ที่ 5.8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ลดลงเล็กน้อยจากปี2567 และมีต้นทุนต่อหน่วย(Unit Cost) เฉลี่ยอยู่ที่ 29-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 70-75%
“ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ถ้ามีผลกระทบต่อปตท.สผ.จะส่งผ่านมายังราคาน้ำมัน ซึ่งในพอร์ตลงทุนของบริษัท เป็นก๊าซฯสัดส่วน 70% และน้ำมัน 30% ฉะนั้นถ้าจะกระทบก็กระทบประมาณ 30% โดยบริหารความเสี่ยงในหลายๆด้าน รวมถึงการทำประกันความเสี่ยงด้านราคาไว้ด้วย ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบไม่ต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ก็มั่นใจว่า บริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้าการดำเนินงานตามแผนลงทุน5 ปี (ปี 2568 – 2572) ที่ได้จัดสรรไว้ โดยมีรายจ่ายรวม (Total Expenditure) 33,587 ล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 21,249 ล้านดอลลาร์ฯ และรายจ่ายดำเนินการ 12,338 ล้านดอลลาร์ฯ
อีกทั้ง ยังได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (2568-2572) เพิ่มเติมจากงบประมาณข้างต้นอีกจำนวน 1,747 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate VentureCapital (CVC) ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต

ขณะที่ปี 2568 ตั้งงบประมาณลงทุนรวม อยู่ที่ 7,819 ล้านดอลลาร์ฯ (261,940 ล้านบาท) ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) จำนวน 5,299 ล้านดอลลาร์ฯ และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) จำนวน 2,520 ล้านดอลลาร์ฯ
โดยให้ความสำคัญกับแผนงานหลัก ดังนี้ 1.การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน โครงการผลิตหลักที่สำคัญเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการจี 2/61 (แหล่ง บงกช)โครงการอาทิตย์ โครงการเอส1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และโครงการซอติก้า และโครงการยาดานาในประเทศเมียนมา ที่มีการนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เข้ามาใช้ในประเทศไทย อีกทั้งโครงการผลิตหลักในต่างประเทศ เช่นโครงการในประเทศมาเลเซีย และประเทศโอมาน โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 3,676 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30และร้อยละ 50ภายในปี 2573และ 2583ตามลาดับ โดยได้ตั้งงบประมาณสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2568 ทั้งสิ้นจำนวน 77 ล้านดอลลาร์ฯ
2.เร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระยะพัฒนา (Development Phase) ได้แก่ โครงการสัมปทาน กาชา โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 และโครงการพัฒนาในประเทศมาเลเซีย เช่น โครงการมาเลเซีย เอสเค405บี โครงการมาเลเซีย เอสเค417 และโครงการมาเลเซีย เอสเค438 เป็นต้น ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผนงาน โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจำนวนเงิน 1,464 ล้านดอลลาร์ฯ
3.เร่งดำเนินการสำรวจในโครงการปัจจุบันโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจ โครงการในระยะพัฒนา รวมถึงโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้วรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 127 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลของโครงการในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศเมียนมา
ทั้งนี้ ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว ปตท.สผ.มั่นใจว่า จะช่วยสนับสนุนให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัทในช่วง 5 ปีนี้ เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-4%
