ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ถูกกดดัน หลังสหรัฐฯ เปิดฉากเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ผู้ชมทั้งหมด 147 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ถูกกดดัน หลังสหรัฐฯ เปิดฉากเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ท่ามกลางแรงหนุนจากการหยุดชะงักของท่อขนส่งน้ำมันดิบ Caspian Pipeline Consortium และโอเปกพลัสที่มีแนวโน้มชะลอแผนการเพิ่มการผลิต คาดเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21 – 27 ก.พ. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันเนื่องจากตลาดคลายกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจากการที่สหรัฐฯ เปิดฉากเดินหน้าเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวจากสงครามการค้าหลังทรัมป์ประกาศแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และยาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบอิรักที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากเสร็จสิ้นการเจรจา อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากท่อขนส่งน้ำมันดิบ Caspian Pipeline Consortium (CPC) ที่ใช้ลำเลียงน้ำมันดิบจากคาซัคสถานหยุดชะงักลง รวมถึงตลาดยังคงจับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกพลัสที่อาจชะลอแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิต

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

• ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสหรัฐฯ และและรัสเซียได้มีการเจรจาที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐฯ เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อสานต่อการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียเพื่อหาแนวทางยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าสหภาพยุโรปและยูเครนจะเข้าร่วมการเจรจาด้วย โดยข้อตกลงจะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หากสงครามดังกล่าวสิ้นสุดลงอุปทานน้ำมันดิบอาจปรับเพิ่มขึ้นจากการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของรัสเซียของสหรัฐฯ

• การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกให้ชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดยล่าสุด ทรัมป์เผยแผนที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ ในอัตรา 25% และสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และยาที่ระดับ 25% หรือมากกว่า โดยมีแผนเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. 68 อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่ามาตรการทางภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการนำประเทศคู่ค้าเข้าสู่การเจรจาในลักษณะเช่นเดียวกับการขึ้นภาษีสำหรับเม็กซิโกและแคนาดาที่มีการเลื่อนออกไปหลังสามารถเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้สำเร็จ

• อุปทานน้ำมันดิบจากอิรักมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถส่งออกได้ใน 1 สัปดาห์หลังการเจรจา เนื่องจากเสร็จสิ้นด้านกระบวนการทางกฎหมายด้านการชำระเงิน ทั้งนี้ คณะผู้แทนกระทรวงน้ำมันอิรักได้มีการเจรจาเพื่อส่งออกน้ำมันดิบจากเคอร์ดิสถานผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan ที่มีกำลังการขนส่งน้ำมันดิบได้กว่า 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ดำเนินการประมาณ 700,000 บาร์เรลต่อวัน หลังก่อนหน้านี้การส่งออกผ่านท่อดังกล่าวถูกระงับตั้งแต่ 25 มี.ค. 66

• อย่างไรก็ดี ตลาดคาดอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นหลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Caspian Pipeline Consortium (CPC) ที่ใช้สำหรับการขนส่งน้ำมันดิบเกรดเบาที่มีปริมาณกำมะถันต่ำจากคาซัคสถานผ่านรัสเซียเพื่อไปยังท่าเรือชายฝั่งทะเลดำเพื่อส่งออกต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากยูเครนใช้โดรนโจมตีสถานีเพิ่มแรงดัน Kropotkinskaya ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัสเซีย ส่งผลให้ท่อ CPC ที่สามารถลำเลียงน้ำมันดิบได้กว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเกิดความเสียหาย ส่งผลให้การขนส่งน้ำมันดิบผ่านท่อ CPC ปรับลดลงกว่า 30-40% และคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมราว 1-2 เดือน

• นอกจากนี้ ตลาดจับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรเนื่องจากมีแหล่งข่าวเปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสได้มีการหารือกันเพื่อพิจารณาเลื่อนเวลามาตรการผ่อนคลายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มออกไปจากกำหนดเดิมในเดือน เม.ย. 68 แม้ว่าล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซียเผยว่าโอเปกพลัสยังไม่มีการพิจารณาเลื่อนแผนดังกล่าวแม้ว่าก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกพลัสเพิ่มการผลิตโดยเร็วเพื่อกดดันราคาน้ำมันดิบก็ตาม ทั้งนี้ ตลาดคาดโอเปกพลัสอาจชะลอแผนเพิ่มกำลังการผลิตจากเดือน เม.ย. 68 เป็นเดือน ก.ค. 68 หลังอุปสงค์โลกอ่อนแอและอุปทานจากประเทศนอกกลุ่มเพิ่มขึ้น

• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 4/67 ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 68 ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล เดือน ม.ค. 68 รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบี เดือน ก.พ. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ม.ค. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน ก.พ. 68

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14 – 20 ก.พ. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเนื่องจากยูเครนได้ทำการโจมตีท่อขนส่งน้ำมัน Kropotkinskaya ในภูมิภาคครัสโนดาร์ทางตอนใต้ของรัสเซียส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบที่ขนส่งจากคาซัคสถานสู่ตะวันตกปรับตัวลดลงกว่า 380,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 1% ของอุปทานน้ำมันดิบทั่วโลก นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอันดับ 3 ของสหรัฐฯ โดยปริมาณการผลิตปรับลดลงกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ดี ราคาได้รับแรงกดดันจากการที่ Bank of America คาดการณ์ว่าหากชาติตะวันตกผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซียจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากการที่รัสเซียสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบสู่ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีนและเกาหลีใต้ได้ ขณะเดียวกันผู้นำยุโรปได้จัดการประชุมฉุกเฉินในกรุงปารีสช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาการเพิ่มงบประมาณกลาโหมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความมั่นคงของทวีป

รวมถึงการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อสนับสนุนยูเครน โดยหลายฝ่ายได้เห็นต้องพ้องกันว่าการยุติสงครามรัสเซีย ยูเครนควรจะมีทั้งข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนและข้อตกลงสันติภาพร่วมกัน ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ก.พ. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 432.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล