ผู้ชมทั้งหมด 236
ปตท.หวังปริมาณการผลิตก๊าซฯเพิ่ม หนุนผลประกอบการปี2568 พร้อมทุ่ม 5.5 หมื่นล้านบาท ลุยขยายลงทุนตามแผน 5ปี ขณะที่ปี2568 ตั้งงบ 2.8 หมื่นล้านบาท มุ่งสร้างการเติบโตธุรกิจก๊าซฯและเทรดดิ้ง งัดแผน MissionX ปั๊ม EBITDA ทั้งกลุ่ม ปตท.เพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2570 เดินหน้าเจรจาหาพันธมิตรร่วมลงทุนเสริมแกร่งให้ 3 โรงกลั่นในเครือ ยัน ปตท.ยังถือหุ้นหลัก ไม่มีนโยบายควบรวมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น
ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นในปี2568 ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ที่ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนและมีกำแพงภาษีที่สูงขึ้น, การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยมีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ประกอบกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในวัฏจักรขาลง,ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการเมืองในตะวันออกกลาง และการนำเทคโนโลยีดิจิตัล และ AI เข้ามาให้มากขึ้น รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐ ทั้งการปรับแผนพลังงานแห่งชาติ นโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ Single Pool,TPA ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้ข้อจำกัดทางการเงินนั้น
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย ที่มีภารกิจสำคัญในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ยังคงเดินหน้าปรับพอร์ตธุรกิจ โดยมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมสร้างความแข็งแรงภายในองค์กร ลดความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพให้กับธุรกิจ พิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชนกล่าว่า ปตท. ตั้งงบประมาณรองรับการลงทุนตามแผน 5 ปี(ปี2568-2572) วงเงิน 55,000 ล้านบาท ซึ่งปี 2568 จะตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนขยายธุรกิจก๊าซฯเป็นหลัก โดยจะเน้นการลงทุนด้านโครงการพื้นฐาน ทั้งโรงแยกก๊าซฯ ท่อส่งก๊าซฯ และคลังรับ-จ่ายก๊าซฯ เป็นต้น และอีกส่วนจะเป็นการลงทุนในธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศ (เทรดดิ้ง) ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจที่ ปตท.มีความเชี่ยวชาญ เป็นต้น และจะดำเนินงานควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับแผนดำเนินธุรกิจดังกล่าว จะแบ่งเป็น 3 ระยะประกอบด้วย ระยะสั้น จะเน้นการปรับโครงสร้างธุรกิจที่ไม่ใช่คาร์บอน และการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ในประเทศภายใต้โครงการ D1 (Domestic Products Mgmt)ที่ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปี จากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันในกลุ่มธุรกิจ(Synergy)ระหว่าง (TOP,GC,IRPC) ภายใต้โครงการP1 รวมถึงกำหนดแผนMissionX- Operational Excellence ตั้งเป้าหมายมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ภายในปี 2570 โดยจะเป็นส่วนของปตท. ที่ตั้งเป้าหมายทำได้ 10,000 ล้านบาท ที่เหลือ 20,000 ล้านบาท เป็นเป้าหมายบริษัทในเครือทั้งหมดรวมกัน นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าลดต้นทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ โดยจะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 2 ปี
ระยะกลาง เน้นการปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีแลการกลั่น(P&R) ซึ่งจะหาพันธมิตรที่มีความเข้มแข็งด้านวัตถุดิบและตลาดเข้ามาร่วมธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น โดยที่ ปตท.จะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรต่างชาติหลายราย และยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้หรือไม่ นอกจากนี้ ปตท.ยังตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติของภูมิภาค (LNG Hub) เนื่องจากมีความพร้อมและความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจนี้ ที่จะขยายตลาดออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ คาดว่าจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ประมาณ 10-11 ล้านตัน จากปี2567 ที่นำเข้า 9.6 ล้านตัน
ส่วนระยะยาว เน้นลงทุนระบบการดักจับและกักเก็บคาร์บอน(CCS) และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ปตท.ตั้งเป้าจะมีผลประกอบการเติบโตขึ้นทุกปี และปีนี้ ธุรกิจUpstream คาดว่า วอลุ่มจะเติบโตขึ้นจากกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งต่างๆที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนใกล้เคียงกับปีก่อนหรือลดลงแต่ราคาอาจปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมัน ส่วนธุรกิจก๊าซฯเดินเครื่องการผลิตดีขึ้น ความต้องการใช้คลังรับ-จ่ายก๊าซฯก็มีปริมาณการจองเข้ามาเพิ่ม ด้านธุรกิจDownstream มาร์จิ้นทรงๆ แต่โรงกลั่นไทยออยล์ กำลังการผลิตจะลดลงตามการปิดซ่อมบำรุงฯ ส่วนธุรกิจLife Science ยังเติบโตได้ดี แต่ต้องหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในอนาคต”
ส่วนกระแสข่าวการควบรวมธุรกิจ(P&R) ในกลุ่ม ปตท. คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IIRPC และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC นั้น ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายการควบรวม แต่จะเป็นลักษณะการหาพันธมิตรเข้ามาเสริมแกร่งในทางธุรกิจมากกว่า
ขณะที่กรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายการลดค่าไฟ โดยการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ (Pool Gas) เพื่อลดค่าไฟงวด พฤษภาคม-สิงหาคม2568 ลง 40 สตางค์ต่อหน่วยนั้น ปตท. ยังไม่ได้รับการประสานงานจากกระทรวงพลังงาน แต่ในปี 2567 ปตท. ได้สนับสนุนราคาก๊าซฯในการลดค่าไฟ รวมถึงสนับสนุนราคาพลังงาน เช่น NGV และ LPG รวมเป็นมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 3,090,453 ล้านบาท ลดลง 1.7% และมีกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท ลดลง 19.6% โดยเป็นผลมาจากธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีรายได้จากการขายลดง แม้จะมีปริมาณการขายน้ำมันสำเร็จรูป และ LNG เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีรายได้จากการขายลดลงเช่นกัน จากราคาขายเฉลี่ยลดลงวตามราคาPool Gas นอกจากนี้ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกกมีรายได้ลดลงจากประมาณการขายที่ลดลง
ยกเว้นธุรกิจโรงแยกก๊าซ ที่มีปริมาณการขายและราคาเพิ่มขึ้น รวมถึงระบบธุรกิจท่อส่งก๊าซที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการจองใช้ท่อของลูกค้าลงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจกลุ่มสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีรายได้เพิ่มขึ้นแม้ว่าราคาขายเฉลี่ยจะลดลง