ผู้ชมทั้งหมด 78
“สุริยะ” เร่งรฟม.เจรจาเอกชนแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า หนุนนโยบาย 20 ตลอดสายให้ประชาชนใช้บริการราคาถูกภายใน ก.ย.นี้ พร้อมสั่งการบ้านหน่วยงานในสังกัดเร่งรัดเบิกจ่ายงบ 68 ให้ได้ตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการขนส่งทางบก ทางราง และการบริหารงบประมาณ เพื่อมุ่งหวังเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมว่า ที่ประชุมได้ติดตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆในสังกัดกระทรวงคมนาคม
โดยปี 2568 กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 244,576.97 ล้านบาท ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายสะสมแล้วรวม 39,857.94 ล้านบาท หรือ 16.30% ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตั้งเป้าการเบิกจ่ายสะสมที่ 53,018.31 หรือ 21.68% ขณะที่ผลการเบิกจ่ายด้านการลงทุน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 28,081.82 ล้านบาท หรือ 13.23% ใกล้เคียงกับแผนที่ตั้งไว้ ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตั้งเป้าการเบิกสะสมไว้ที่ 38,391.62 หรือ 21.68%
อย่างไรก็ตามในส่วนของผลการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2568 ที่มียอดรวมทั้งสิ้น 89,755.88 ล้านบาท ณ สิ้น เดือนมกราคม 2568 มียอดเบิกจ่ายสะสมรวม 28,429.72 ล้านบาท หรือ 31.67% ดีกว่าแผนที่ตั้งไว้ที่ 26,671.28 ล้านบาท หรือ 29.72% โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตั้งเป้าการเบิกสะสมรวม 33,593.29 ล้านบาท หรือ 37.43%
ทั้งนี้ในภาพรวมของรัฐบาลนั้นนายกรัฐมนตรียังต้องการให้ของทุกหน่วยงานเบิกจ่ายงบประมาณรวมได้อีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นในส่วนของกระทรวงคมนาคมตนจึงมอบการบ้านให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมทางหลวง (ทล.) ไปพิจารณาเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อช่วยใหัตัวเลขการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีวางไว้
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง ซึ่งมั่นใจว่าประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคา 20 บาท ทุกสายทุกสีภายในเดือนก.ย.นี้อย่างแน่นอนซึ่งจะส่งผลให้รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และมีรายได้มากขึ้นด้วย โดยทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานว่า ได้จัดทําแผนการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง ในส่วนรถไฟฟ้าภายใต้การกํากับของ รฟม. ซึ่งจะมีกระบวนการในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่จะต้องดําเนินตามมาตรา 46-48 ของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีแผนดังนี้
1. แผนการดําเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยการแก้ไขสัญญามีหลักการแตกต่างจากหลักการและเงื่อนไขสําคัญของโครงการร่วมลงทุน 2. แผนการดําเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยหลักการและเงื่อนไขสําคัญของโครงการร่วมลงทุนคงเดิม 3. แผนการดําเนินงานระบบตั๋วร่วม EMV ในรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู เพื่อพัฒนาระบบให้รองรับการใช้บัตร EMV Contactless ได้ในทุกประตูอัตโนมัติของทุกสถานี
โดยในส่วนของ แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน กับเอกชนผู้ที่ได้รับสัปทาน ได้มอบหมายหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม โดยขณะนี้ กรมขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดทําข้อกําหนดทางธุรกิจ(Business Rule) เช่น เงื่อนไขการเดินทาง การคิดอัตราค่าโดยสาร การจัดแบ่งและชดเชยรายได้ และแหล่งเงินชดเชย เป็นต้น โดยระยะต่อไป ทาง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเข้าเจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ รฟม. พิจารณา และภายในเดือนสิงหาคม 2568 จะเสนอเข้า ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้น รฟม. จะดำเนินการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จทั้งหมด ก่อนที่มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเริ่มภายในช่วงเดือนกันยายน 2568 เพื่อปะรโยชน์สูงสุดของประชาชน