ผู้ชมทั้งหมด 98
“CEO ปตท.” แนะภาคอุตสาหกรรมไทย เร่งปรับพอร์ตธุรกิจ ลดปล่อยคาร์บอน ขณะที่ ปตท. พร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หนุนอุตสาหกรรมไทยใช้ เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน์(CCS) และไฮโดรเจน สู่เป้าหมายลดภาระโลกร้อน ตอบโจทย์ความยั่งยืนทางธุรกิจ
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/S__159572018-1024x473.jpg)
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “รวมพลังสู่การดำเนินธุรกิจยุคใหม่อย่างยั่งยืน” ในงาน FTI Expo 2025 งานแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยี และโซลูชันอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2568 โดยระบุว่า แนวทางการบริหารจัดการธุรกิจให้ยั่งยืนตามหลัก ESG นั้น ปตท.มองว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการหาความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่า ปตท.จะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนการลงทุนด้วย โดยการดำเนินธุรกิจของปตท.จะยังอยู่บนธุรกิจหลักคือ Oil & Gas ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตอย่างมั่นคง แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการดูแลภาวะโลกร้อน ฉะนั้นการลงทุนทางธุรกิจของปตท.จะต้องลงทุนไปพร้อมกับการลงทุนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯด้วย
โดย ปตท.มีภารกิจสำคัญในการดูแลความมั่นคงทางพลังงาน ให้เพียงพอกับความต้องการใช้และไม่ขาดแคลน ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากภายใต้บริบทโลกที่เผชิญกับความผันผวนมากขึ้น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปตท.จะต้องดูแลในเรื่องนี้ และปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องใช้เวลาดำเนินการราว 20-30 ปีกว่าจะเปลี่ยนผ่านได้ โดยระหว่างนี้ยังจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน ซึ่งก็คือ ก๊าซธรรมชาติ ที่ถือว่าเป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่สุด และในประเทศไทย ก็มีการผลิตก๊าซฯได้เกือบ 60% ของความต้องการใช้ ส่วนอีกกว่า 30% เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/S__159572015_0-1024x473.jpg)
ดังนั้น บริษัทพลังงานทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ก๊าซฯ จะเป็นเชื้อเพลิงหลักเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน แต่จะใช้ย่างไรไม่ให้ขัดกับบริบทลดโลกร้อน ฉะนั้น ปตท.ก็ต้องดำเนินการเรื่องลดปล่อยคาร์บอนไปควบคู่กัน
โดยวิธีแรก เริ่มจากการปรับปรุงประสิทธิภาพ กระบวนการผลิต ปรับปรุงเครื่องจักร นำเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน วิธีที่สอง ปรับพอร์ตธุรกิจ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยเชื่อว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น โรงกลั่น ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า และโรงปูนซีเมนต์ เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดยไม่มีการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ฉะนั้น การดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และประเทศไทยก็มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะดำเนินการได้ อย่างหลุมเก็บปิโตรเลียมใต้ทะเล ก็สามารถใช้เป็นพื้นที่การดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ได้ แม้ว่าต้นทุนดำเนินการในปัจจุบันจะยังแพงอยู่ แต่การเริ่มดำเนินการในขณะนี้ก็อาจส่งผลให้ต้นทุนในอนาคตถูกลงได้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสุดใจ
“สุดท้ายนี้ แม้ว่า ทุกคนจะลดคาร์บอนได้ตัวเอง ปรับพอร์ตการลงทุน ก็ต้องมี Carbon Capture และถ้าแพงไปก็ไม่มีใครใช้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีกว่าการไปซื้อคาร์บอน เพราะการเทรดก็ไม่ได้เกิดการลดคาร์บอนจริง ฉะนั้น ปตท.เองก็จะลงทุนในเรื่องนี้ เพราะปตท.ก็ปล่อยคาร์บอนพอสมควร ก็ต้องช่วยตัวเอง และต้องทำเผื่อให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์เก็บกักคาร์บอนด้วย ซึ่งสภาอุตฯก็จะเข้ามาร่วมผลักดันในเรื่องนี้ เพื่อให้ เทคโนโลยีCarbon Capture เกิดขึ้นได้ โดยปตท.จะเป็นเสาหลักขับเคลื่อนเรื่องนี้ และต้องทำให้ต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ ไม่ควรให้เกิดการอุดหนุนในระยะยาว โดยช่วงแรกอาจต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นก่อน และทยอยลดการอุดหนุนลง”
นอกจากนี้ อีกวิธีการที่จะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน คือ การลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจน โดยทุกๆโมเลกุลไฮโดรเจนที่นำมาใช้ ก็จะลดคาร์บอนลงได้ด้วย ดังนั้น การลงทุนใน 2 เรื่องนี้ คือเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน(CCS) และไฮโดรเจน จะตอบโจทย์ปตท. และอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องลดคาร์บอนฯ
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/S__159572019-1024x583.jpg)
ดร.คงกระพัน กล่าวว่า การจะขับเคลื่อนธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนนั้น จะต้องบริหารจัดการพอร์ตธุรกิจให้สมดุลทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่การจะทำให้ยั่งยืนอย่างแท้จริงจะต้องอินทิเกรตสู่กลยุทธ์ธุรกิจทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าซึ่งก็เป็นเรื่องที่แต่ละองค์กรจะดำเนินการได้
แต่ในบริบทที่ยากกว่า ทาง ปตท.มีหน้าที่จะดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องรองรับ การกักเก็บคาร์บอน(CCS) และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เปรียบเสมือนภารกิจหลักของ ปตท.เมื่อ 40 กว่าปีก่อน สมัยที่ค้นพบก๊าซฯ ปตท.ต้องเข้าไปเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อรองรับ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ปิโตรเคมี SME ที่ประกอบรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ฉะนั้น ก็คาดหวังว่า การลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอน(CCS)และไฮโดรเจน จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศปรับตัวได้ คือ มีทางเลือกในการลดคาร์บอน ภายใต้การปรับฐานธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนไปลงทุนอย่างอื่นแต่สามารถลดคาร์บอนฯได้
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/S__159572016_0-1024x473.jpg)