รองผู้ว่า กฟภ. ฉายภาพอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว UGT ตอบโจทย์การลดคาร์บอน สร้างผลิตภัณฑ์สีเขียว

ผู้ชมทั้งหมด 122 

เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff (UGT) ที่มาจากพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์องค์กรและภาคธุรกิจที่มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนซื้อไฟฟ้าสีเขียวยังได้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ซึ่งผู้ซื้อไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิในการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นได้ ขณะเดียวกันการให้บริการ UGT ยังเป็นการรองรับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBEM) หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน อีกด้วย

สำหรับการให้บริการ UGT นั้นถูกจัดทำเป็น 2 รูปแบบ แบบที่ 1 คือ UGT1 เป็นอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา ส่วน UGT2 เป็นอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงที่มา ซึ่งการให้บริการ UGT ทั้งนั้นเป็นการให้บริการโดย 3 การไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ด้านความพร้อมในการเปิดให้บริการ UGT ของกฟภ. นั้น นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการกฟภ.ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า การเปิดรับสมัคร ลงทะเบียนเข้าโครงการ UGT1 ของกฟภ. มีหน่วยงานภาคธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจ และ มีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ UGT เข้ามาผ่านช่องต่างๆ ของ กฟภ. อยู่เป็นจำนวนมาก โดย ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 นั้นมีผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนแล้ว 18 ราย หรือประมาณ 300 ล้านหน่วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเคมีภัณฑ์ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มธุรกิจการเงิน ด้านธนาคาร ให้ความสนใจและเข้ามาลงทะเบียนแล้ว อย่างไรก็ตามการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว UGT1 รองรับความต้องการรับซื้อไฟฟ้าปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี โดย กฟภ. จะเปิดให้บริการจริงสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนในวันที่ 10 มีนาคม 2568 แบบ First-Come-First-Served จากนั้นจะสามารถใช้ไฟฟ้าได้จริงในรอบเดือนเมษายน 2568

สำหรับอัตราค่าบริการนั้นอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย มีค่าพรีเมียมอยู่ที่ 5.94 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นผู้ที่ใช้ไฟฟ้า UGT1 จะต้องเสียค่าไฟฟ้าใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ ค่าไฟฟ้าปกติ 4.15 บาทต่อหน่วย และเสียค่าพรีเมี่ยมของอัตรา UGT1 5.94 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนไฟฟ้าที่จำหน่ายในอัตรา UGT1 นำมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิริกิติ์, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนท่าทุ่งนา, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า UGT1 มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี จากนั้นก็จะพิจารณาต่อสัญญาแบบอัตโนมัติปีต่อปี

นายประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า UGT1 จะเหมาะกับผู้ประกอบการที่มีนโยบาย Carbon Neutrality  และ Net Zero ขณะเดียวกันก็อาจจะผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าไปต่างประเทศ เพราะในอนาคตการซื้อไฟฟ้าสีเขียวนอกจากได้ใบรับรอง REC แล้วก็จะมีมาตรฐาน CBEM มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) มารองรับด้วย ซึ่งทางกฟผ. อยู่ระหว่างเจรจาในเรื่องนี้อยู่  

ส่วน UGT2  หรือ อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงที่มาโดยสามารถระบุ Portfolio ได้ ซึ่งแหล่งที่มาของ UGT2 มาจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565-2573 ประมาณ 4800 MW ซึ่งพลังงานของ UGT2 จะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์พร้อมแบตเตอรี่ และพลังงานลม ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ 3 การไฟฟ้า อยู่ในระหว่างพิจารณาอัตราค่าบริการและกฎระเบียบให้บริการ UGT2 ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่สนใจ UGT2 เป็นกลุ่ม บริษัทเทคโนโลยี กลุ่ม Data Center และผู้สนใจไฟฟ้าสีเขียวที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม คาดว่าจะสามารถเริ่มขายไฟฟ้าในอัตราค่าไฟฟ้า UGT2 ได้ในช่วงไตรมาส 3-4/2568 โดยระยะเวลาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า UGT2 กำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปี

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการของ กฟภ. ที่มีความสนใจ หรือต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าสีเขียว สามารถศึกษารายละเอียดของโครงการ UGT ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงสมัคร/ลงทะเบียน ผ่าน Website UGT ของ กฟภ. https://ugt.pea.co.th/ หรือเข้าผ่าน Website ของ กฟภ. https://www.pea.co.th/ และคลิกที่ Banner UGT ก็จะ Link มายัง Website UGT ของ กฟภ. เช่นกัน และหากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจโครงการ UGT ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ 1129 หรือ Email: ugt@pea.co.th