ผู้ชมทั้งหมด 79
OR ลงนาม MOU ร่วม กรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างความตระหนักรู้จัดเก็บภาษีคาร์บอน ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อราคายปลีกน้ำในหน้าสถานีบริการ คาดกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.พ.นี้
สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ “ร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน” ที่มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในพิกัดภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยรวมไว้ในภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน
สำหรับสินค้าที่กำหนดกลไกราคาคาร์บอน ได้แก่ น้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน (รวมถึงน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ประเภทต่างๆ) ,น้ำมันก๊าดและน้ำมันที่จุดให้แสงสว่างที่คล้ายกัน, น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น,น้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่ประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันดีเซล B5 น้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซล B10,ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ก๊าซโพรเพรน และก๊าซที่คล้ายกัน,น้ำมันเตาและน้ำมันที่คล้ายกัน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนในสังคมมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยไม่ทำให้ราคาน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมันมีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้นมีการกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า โดย ร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
วันนี้(3 ก.พ.2568) กระทวงการคลัง โดยดร. กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ร่วมกับ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และ รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอนและสนับสนุนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมด้านการส่งเสริมพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เอื้อต่อการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้านการขยายผลและต่อยอด ผ่านการบูรณาการการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและผลงานวิจัย และด้านการพัฒนากลไกและนวัตกรรม ด้วยการพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงาน และสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ โดยยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีฯดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันและไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากอัตราภาษีดังกล่าวได้รวมอยู่ในอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เรียกเก็บไปแล้ว แต่การประกาศเป็นกฎหมายออกมา เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการทางภาษีนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ส่วนราคาคาร์บอน (Carbon Price) ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่านั้น เป็นการคำนวณจากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ซึ่งหากเติมน้ำมันสะอาดก็จะเสียภาษีคาร์บอนน้อยกว่าน้ำมันที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวก็เพื่อจูงใจให้ประชาชนเลืออกใช้น้ำมันสะอาด อย่างอัตราภาษีคาร์บอนที่เก็บในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จะอยู่ที่ประมาณ 0.6 บาทต่อลิตรเป็นต้น
สำหรับความร่วมมือกับ OR ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้น้ำมัน โดยทุกครั้งที่เติมน้ำมัน ประชาชนจะรู้ถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านจอแสดงผลติดตั้งไว้บริเวณหัวจ่ายน้ำมัน ซึ่งในอนาคต กระทรวงกาคลังจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมบริษัทค้าน้ำมันรายอื่นต่อไป
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้เรื่องภาษีคาร์บอนของผู้ใช้พลังงาน ด้วยความห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาษีคาร์บอน ซึ่งมาตรการนี้ไม่ส่งกระทบต่อราคาน้ำมัน และไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด
อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการออกกฎกระทรวงกำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีน้ำมันในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
“ภายใต้ MOU ดังกล่าว OR จะให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานรวมถึงทรัพยากรตามที่ทั้ง 3 ฝ่ายตกลงร่วมกัน ขณะที่ ทางจุฬาฯ จะรวมรวมข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อส่งให้กับภาครัฐใช้ในการจัดทำนโยบายภาษีในอนาคตได้ออย่างแม่นยำต่อไป”
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบาย OR SDG ที่มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน G: Green ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาดและการสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2608