ผู้ชมทั้งหมด 169
“สุรพงษ์” กดปุ่มหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 4 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ขณะที่ภาพรวมทั้งโครงการคืบหน้า 48% กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 70 เปิดให้บริการปี 72 ด้านรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าคาดได้ข้อสรุปไตรมาส 3/68
วันนี้ (25 มกราคม 2568) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็น ประธานในพิธีเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวน กาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง โดยมี Dr. Ernst Reichel เอกอัครราชทูตเยอรมันประจําประเทศไทย นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) พลตํารวจตรี ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตํารวจ นครบาล ดร. พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. นายประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ผู้แทนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า สํานักงานเขตคลองสาน สํานักงานเขตธนบุรี เข้าร่วมพิธี ณ จุดก่อสร้างอุโมงค์ สถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ รฟม. กํากับและควบคุมการดําเนินงาน โครงการรถไฟฟ้าทุกสายในความรับผิดชอบให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ เติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ให้พี่น้องประชาชนมีระบบขนส่งสาธารณะทางรางที่สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล และเข้าถึงบริการ ได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย”
โครงการฯ นี้ เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กระทรวงคมนาคมให้ความสําคัญในการกํากับและติดตามการดําเนินงานให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเดินเครื่องหัวขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและก้าวหน้าของโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยบริษัทยูนิคฯ ได้นําเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการดําเนินงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานและมีความปลอดภัยที่ครบถ้วนทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติงานเองและต่อประชาชนที่สัญจรผ่าน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังคงให้ความสําคัญกับการดําเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละออง PM 2.5 ในระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการบรรเทาผลกระทบทางด้านการจราจร โดยเน้นย้ำให้มีการ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทาง ตลอดจนพิจารณาการใช้พื้นผิวจราจรสําหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จําเป็น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
นายวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 47.95 จากแผนงานร้อยละ 40.10 โดยคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570 และมีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถภายในปี 2572 สําหรับการก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งใต้ดินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ จะใช้หัวขุดเจาะอุโมงค์ (Tunnel Boring Machine : TBM) รวมทั้งสิ้น 7 หัว
โดยในส่วนของสัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง มีจำนวน 2 หัว ซึ่งขุดเจาะจากสถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า มุ่งหน้าไปยังสถานีสะพานพุทธฯ จากนั้นจะยกหัวขุดเจาะอุโมงค์กลับมาที่สถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อขุดเจาะไปยังบริเวณ Cut & Cover ซึ่งเป็นจุดเชื่อมกับโครงสร้างทางวิ่งยกระดับของสถานีดาวคะนอง โดยนำเทคโนโลยีหัวขุดเจาะอุโมงค์สมดุลแรงดันดิน (Earth Pressure Balance) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบควบคุมสมดุลแรงดันในขณะขุดเจาะ และเป็นชนิดที่เหมาะกับสภาพชั้นดินอ่อนในเขตกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน และไปสิ้นสุดที่สถานีครุใน มีระยะทางรวมประมาณ 23.63 กิโลเมตร มีสถานี 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยรองรับการเดินทาง ของประชาชนจากกรุงเทพมหานครฝั่งเหนือไปยังกรุงเทพมหานครฝั่งใต้ และทำให้เดินทางเข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการได้โดยสะดวก ส่วนรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ นั้นอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณไตรมาส 3/2568 หลังจากนั้นก็จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป