ผู้ชมทั้งหมด 100
GC ลั่น ปี 2567 บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 48,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผ่านการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตกว่า 90 โครงการ ดันใช้พลังงานหมุนเวียน เกินจากเป้าหมาย 40% พร้อมจับมือพันธมิตรทั้งภายในประเทศและระดับโลกมากกว่า 40 พันธมิตร เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าในระยะยาว
นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ตลอดปี 2567 GC มุ่งมั่นแสวงหาโอกาสและสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์และเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ เสริมสร้างศักยภาพในการเป็น “ศูนย์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด”(Map Ta Phut Specialty Hub) เพื่อรองรับการขยายธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองความต้องการวัสดุที่ยั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ GC ได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมสากล ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ
โดยมีผลสำเร็จในปี 2567 ประกอบด้วย
• การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
– GC และ KBC Advanced Technology Pte Ltd, a Yokogawa company ร่วมพัฒนา การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Advanced Process Simulation และความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของ GC และ KBC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของ GC
– GC และ Toyo Engineering Corporation ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
– GC และ Toray Industries, Inc. ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลิตกรดมิวโคนิกและกรด อะดิปิกชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สู่ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำในอนาคต
– GC และ บริษัท ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ร่วมพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจน (Future Hydrogen Society) เพื่อร่วมแก้ไขและชะลอปัญหาจากภาวะโลกร้อน
– GC และ บริษัท HD Hyundai Shell Base Oil ร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่น (Unconverted Oil: UCO) ด้วยการแปรรูป UCO ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและสามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
– GC และ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ร่วมพัฒนาศักยภาพของ Hydrogen Economy ในประเทศไทย รวมถึงบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม เพื่อผลักดันการใช้ไฮโดรเจนในอุตสาหกรรมต่างๆ
– GC และ Mitsubishi Heavy Industries Asia Pacific ศึกษาการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงเทคโนโลยี CCS เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
– GC ร่วมกับ บริษัท Econic Technologies และ allnex วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์และสารเคลือบผิวจากคาร์บอนที่ถูกดักจับ พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• การปรับ Portfolio มุ่งสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ
– การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF
GC เป็นผู้บุกเบิกพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) รายแรกของประเทศไทยในระดับเชิงพาณิชย์สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่คาร์บอนต่ำ โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดจำหน่าย และ ร่วมมือกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์
– การขยายการเติบโตในธุรกิจเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET คุณภาพสูง ภายใต้แบรนด์ InnoEco by GC ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact) จากองค์การอาหารและยาของไทย (อย.) องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) และหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA)
1) GC ร่วมกับ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด พัฒนาขวดน้ำมันพืชเกสร จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET รายแรกของประเทศไทย สามารถเก็บรักษารสชาติและกลิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่สะอาดและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
2) GC ร่วมกับ บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด และ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) พัฒนาขวดน้ำแร่จิฟฟี่จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET 100% ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน
– GC ริเริ่ม GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ในปี 2563 เพื่อบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร (End-to-End Waste Management) สนับสนุนการคัดแยกและหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ด้วยเป้าหมายสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศ ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปัจจุบัน GC YOUเทิร์น ได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรีไซเคิลและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในเครือข่ายมากกว่า 176 ราย พร้อมทั้งมีจุดรวบรวมพลาสติกใช้แล้วกว่า 290 จุด รวมถึงพัฒนาศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชน (Community Waste Hub) เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน โดยในปี 2567 ได้ขยายศูนย์บริหารจัดการขยะรีไซเคิลชุมชน 2 ศูนย์ในพื้นที่จังหวัดระยอง คือ (1) ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ธนาคารขยะชมรมรักษ์ทะเลหาดแม่รำพึง อำเภอเมือง และ (2) ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล วิสาหกิจชุมชนคัดแยกวัสดุรีไซเคิล อำเภอบ้านฉางรวมเป็น 11 ชุมชน สามารถหมุนเวียนพลาสติกใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิลกว่า 1,322 ตัน ลดขยะพลาสติกสู่หลุมฝังกลบ เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,363,085 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)* หรือ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 143,483 ต้น**
* คำนวณด้วยวิธี LESS จาก TGO Guideline
** ปริมาณการกักเก็บ CO2 จากต้นไม้ใหญ่อายุ 10 ปี ในเวลา 1 ปี (Care the Bear)
– การบริหารจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากธรรมชาติ โดยดำเนินโครงการปลูกและดูแลป่า ในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ครอบคลุมป่าบก ป่าชุมชนและป่าชายเลน ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 46,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี พร้อมเสริมสร้างสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ GC ยังได้รับรางวัลสำคัญที่สะท้อนความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนและการพัฒนาธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ประกอบด้วย
– ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) – อันดับ 1 ของโลกในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ใน DJSI World Index ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และติด Top 10ในประเภท DJSI World และ Emerging 12 ปีติดต่อกัน
– Carbon Disclosure Project (CDP) 2023 (ข้อมูลปัจจุบัน) – ได้รับการประเมินในระดับสูงสุด A List (Leadership Level) ด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) เป็นปีที่ 5ติดต่อกัน เป็นบริษัทเดียวในไทยที่ได้รับเกียรติสูงสุดนี้
– Ecovadis Sustainability Rating – รางวัล Gold ด้วยผลคะแนนระดับ Advance ในมิติแรงงานและสิทธิมนุษยชน จรรยาบรรณธุรกิจ และการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน และมิติสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้อยู่ในอันดับ Top 5% ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์พื้นฐาน
– SET Awards 2024 – ได้รับรางวัล SET Sustainability Excellence Awards of Honor กลุ่มรางวัล SET Sustainability Excellence ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่โดดเด่น ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนได้อย่างครบถ้วนและโปร่งใส
– SET ESG Rating 2024 – รางวัลเกียรติยศด้านความยั่งยืนระดับ AAA และอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 10
– Asian Excellence Awards – 6 รางวัลความเป็นเลิศแห่งเอเชียจากงาน Asian Excellence Awards ครั้งที่ 14 ได้แก่ CEO ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย CFO ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย นักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (2 รางวัล) บริษัทนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม และความยั่งยืนแห่งเอเชีย สะท้อนการเป็นผู้นำและการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลิศอย่างยั่งยืนภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดีในระดับสากล
– รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น – คว้า 1 รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น จาก The Prime Minister’s Industry Award 2023 กระทรวงอุตสาหกรรม ประเภทการเพิ่มผลผลิตโรงงาน LLDPE เชิดชูองค์กรพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
– CSR-DIW Continuous Award – กลุ่มบริษัทฯ จำนวน 21 โรงงาน ได้รับรางวัลโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 สะท้อนความมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองอย่างยั่งยืน
– CAC Change Agent Awards – รับรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แสดงถึงความสำคัญด้านการขยายเครือข่ายธุรกิจโปร่งใส ปราศจากการทุจริตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานไปยังบริษัทในกลุ่มและบริษัทคู่ค้า เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างมีธรรมาภิบาลสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรให้เกิดความยั่งยืน
– Investors’ Choice Awards – 100 คะแนนเต็ม จากผลการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้น โดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13
– การกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย – ผลประเมินโครงการ ในระดับ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
และในปี 2567 นี้ GC ได้ปิดการเสนอขายการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ครั้งแรกของบริษัทฯ ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดในกลุ่มหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ เป็นที่เรียบร้อย มูลค่ารวม 17,000 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทุนสนใจจองซื้อหุ้นกู้เกินเป้าหมายที่ GC ได้ตั้งไว้ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อ GC และกลุ่ม ปตท.
GC เชื่อมั่นว่า กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของ GC และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดเคมีภัณฑ์ของโลก มาจากความร่วมมือและประสานศักยภาพกับพันธมิตร ที่ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี ควบคู่กับการสร้างโอกาสทางการตลาดเชิงรุก เพื่อสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว