ผู้ชมทั้งหมด 116
“ไทยออยล์” ยันสถานะการเงินแกร่ง เพิ่มงบลงทุนโครงการพลังงานสะอาด(CFP)กว่า 6.3 หมื่นล้านบาท มาจากเงินสด รวมทั้งการออกหุ้นกู้และเงินกู้ยืม ตั้งเป้าก่อสร้างเสร็จในปี2571 ช่วยหนุนมาร์จิ้น เพิ่มการแข่งขันระดับภูมิภาค พร้อมจ่ายปันผลตามผลประกอบการ
โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) หรือ CFP เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2561 และมีแผนจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2566 แต่จนถึงปัจจุบันโครงการฯ ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากเผชิญกับปัจจัยท้าทายในหลายด้านทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้โครงการต้องชะงักลง และล่าสุดช่วงกลางปี 2567 ต้องเผชิญกับปัญหาการชุมนุมประท้องของแรงงานที่ไม่ได้รับการชำระค่าจ่ายจากผู้รับเหมาหลักของโครงการฯ ส่งผลให้ ไทยออยล์ ต้องปรับแผนฯรับมือ โดยเตรียมงบประมาณลงทุนส่วนเพิ่มของโครงการ CFP ประมาณ 63,028 ล้านบาท เพื่อให้โครงการฯเดินหน้าก่อสร้างเสร็จ ภายในไตรมาส3 ปี 2571
นายบัณฑิต ธรรมประจําจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) หรือ TOP ระบุว่า โครงการ CFP เมื่อก่อสร้างเสร็จ จะทำให้บริษัทรักษาความเป็นผู้นำทางธุรกิจในระดับภูมิภาคไว้ได้ เพราะนอกจากจะมีกำลังการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจาก 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวันแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตน้ำมันจากเดิมผลิตน้ำมันเตา และยางมะตอย ไปสู่การผลิตน้ำมันเครื่องบินและดีเซล ซึ่งจะทำให้บริษัทมีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น และมีเงินกระเงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพียงพอที่จะนำมาชำระคืนหนี้ของโครงการฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้ประโยชน์เรื่องของสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนฯ
“โครงการ CFP ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทั้งจากโควิด-19 และปัญหาการชุมนุมประท้วงของแรงงาน หากบริษัทไม่ตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อฯ ผู้ถือหุ้นก็จะเสียประโยชน์ ทรัพย์สินที่ลงทุนไปก่อหน้านี้ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งโครงการนี้ มองไปข้างหน้าอีก 20 ปี ก็จะเห็นประโยชน์เกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นฯ ที่สำคัญโครงการฯนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโตระยะยาวที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
สําหรับงบประมาณลงทุนส่วนเพิ่มของโครงการ CFP ประมาณ 63,028 ล้านบาท ที่บริษัทฯจะใช้ในการดําเนินการก่อสร้าง บริษัทฯมีแผนจัดหาเงินทุนประกอบด้วย 1. เงินสดคงเหลือและกระแสเงินสดจากการดําเนินงานของบริษัทฯในปี 2025-2027 โดยปัจจุบัน มีเงินสดในมือประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท
2.การออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งพิจารณาหาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น การออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน รวมถึง การบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประมาณ 1,000-1,500 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 3.4-5.0 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทขอยืนยันว่าไม่มีแผนการเพิ่มทุน จากการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างโครงการในครั้งนี้แต่อย่างใด และจะควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ตามแผนไม่เกินระดับ 1 เท่า
โดยบริษัทฯ มั่นใจว่า งบประมาณที่ขอเพิ่มเติมเพียงพอต่อการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยได้ศึกษาและประเมิน ร่วมกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้วยความระมัดระวังว่าสามารถดําเนินโครงการนี้ได้ตามงบประมาณที่วางไว้ บริษัทฯจะบริหารจัดการงบประมาณให้ดีที่สุด อีกทั้งจากการศึกษาและประเมินของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุนระดับโครงการ (IRR) ในปัจจุบัน จะลดลงเหลือ 7% จากเดิมคาดไว้ที่ 12% แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนของกิจการ ในปัจจุบันจะลดลงจากการประเมินในช่วงการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนของกิจการ เมื่อโครงการเสร็จจะทําให้ ไทยออยล์ มีผลประกอบการทางการเงิน ทั้งในส่วนรายได้ ผลกําไรและฐานะทางการเงินดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯและผู้ถือหุ้นในระยะยาว
ขณะเดียวกันการเพิ่มเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ อย่างมีนัยสําคัญ เนื่องจากแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมส่วนใหญ่มาจากเงินสดคงเหลือ กระแสเงินสดจากการดําเนินงาน และการกู้ยืม ดังนั้นบริษัทฯยังคงพิจารณาจ่ายเงินปันผล ตามนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของกําไรสุทธิของงบการเงิน ภายหลังจากการหักทุนสํารองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ และตามกฏหมายได้นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าสูง บริษัทฯ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ในการตรวจรับงานและการจ่ายเงินโครงการฯ ต้องเป็นไปตามหลักสากลและเงื่อนไขในสัญญา มีการตรวจสอบความถูกต้องทั้งในส่วนปริมาณงานและคุณภาพงานจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน รวมทั้งจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างเป็นผู้ประเมินและตรวจรับงาน และจัดตั้งคณะกรรมการกํากับดูแลโครงการฯ ให้การดําเนินการเป็นไปตามหลักสากลในการบริหารโครงการขนาดใหญ่
ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น. เพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นในการอนุมัติการเพิ่มงบประมาณในโครงการ CFP ดังกล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการฯที่ต้องเลื่อนออกไป กว่า 3 ปี เป็นผลมาจากการดําเนินงานขั้นตอนที่เหลือเป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชื่อมต่อระบบของโครงการฯ ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ดังนั้นก่อนเปิดดําเนินการจึงต้องทําการทดสอบระบบจนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถเปิดดําเนินการได้ตามมาตรฐานที่กําหนดไว้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ การก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่ ที่ทําหน้าที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนนํ้ามันเตาและยางมะตอยให้เป็นนํ้ามันอากาศยานและดีเซลไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนด เนื่องจากปัญหาการหยุดงานของกลุ่มบริษัทรับเหมาช่วงอันเนื่องมาจากไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากผู้รับเหมาหลัก UJV ทําให้การดําเนินโครงการต้องสะดุดจนต้องปรับระยะเวลาดําเนินโครงการออกไป
“เป้าหมายที่ประเมินว่า การก่อสร้างโครงการฯจะแล้วเสร็จในปี 2571 อยู่ภายใต้การประเมินความเสี่ยงในหลายด้านแล้ว และงบประมาณที่ต้องใส่เพิ่มเข้าไปในโครงการฯ ก็ต้องใช้สำหรับดึงแรงงานกลับเข้ามาเดิมโครงการเคยมีรแรงงานเกือบ 2 หมื่นคน ปัจุบันเหลือหลักพันคนก็ต้องใช้เวลา รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันบางหน่วยผลิตก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 90% และบางหน่วยยังคืบหน้าแค่ 70% ”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ บริษัทฯ ได้พยายามหาทางแก้ไขเพื่อให้การดําเนินงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปให้แล้วเสร็จ คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถสรุปเวลาให้แน่ชัดขึ้นในปี 2568 แต่หากผู้รับเหมาเดิม UJV ส่งมอบงานไม่ได้ภายในกำหนดปี 2568 ตามเงื่อนไขสัญญา บริษัทมีสิทธิรักษาสิทธิให้เป็นไปตามสัญญา โดยอาจพิจารณาเปลี่ยนผู้รับเหมารายใหม่ เพื่อเดินหน้าโครงการ และรักษาประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น