ก.พลังงานรอคำสั่งต่ออายุลดราคาก๊าซหุงต้ม-ค่าไฟ

ผู้ชมทั้งหมด 1,177 

ก.พลังงานรอนโยบายรัฐบาลสั่งต่ออายุลดค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้มหลังจะสิ้นสุด มิ.ย.นี้ ช่วยลดภาระประชาชน คาดครึ่งปีหลัง 64 ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น มั่นใจเข้าพื้นที่เอราวัณตามแผนผลิตก๊าซฯได้ต่อเนื่อง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการระบาดไวรัสโควิด – 19 กระทรวงพลังงานก็มีมาตรการลดภาระค่าก๊าซปิโตรเลียมเหลวแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) และลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จะครบกำหนดระยะเวลาในการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งจะดำเนินการขยายระยะเวลาออกไปหรือไม่นั้นก็ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลก่อน

สำหรับราคาก๊าซหุงต้มกระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท ขนาดถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ประกาศตรึงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าไฟฟ้านั้นหากจะช่วยเหลือต่อก็ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล เช่น วงเงิน ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นต้น ในขณะที่การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หากจะมีการตรึงราคาต่อก็ต้องดูถึงกรอบวงเงินพิจารณาว่าเหมาะสมและดำเนินการตามกฏหมายของการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ โดยที่ผ่านมาใช้วงเงินกองทุนน้ำมันฯ มาดูแล ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯมีเงินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 20,498 ล้านบาท

ส่วนการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำร้อยละ 10 นั้นเป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)  5 พฤษภาคม 2564 ให้ลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำระหว่าง พฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2564  โดยคำนวณส่วนลดเปรียบเทียบกับฐานการใช้ไฟฟ้า เดือน เมษายน 2564 ซึ่งคาดว่าจะใช้ วงเงินงบประมาณสนับสนุนราว 8,000 ล้านบาท  ในขณะที่ค่าน้ำคาดใช้เงินอุดหนุนราว 2,000 ล้านบาท

นายกุลิศ ยังได้ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงครึ่งหลัง 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะมีการกระจายฉีดวัคซีนได้จำนวนมากจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมขอหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไปก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อเศรษฐกิจและการใช้ไฟฟ้า ส่วนภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2564 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 187,421  ล้านหน่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 63 ร้อยละ 0.2

นายกุลิศ กล่าวว่า ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิม ให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) ผู้ชนะประมูลดำเนินการรายใหม่ในขณะนี้กระทรวงพลังงาน และปตท.สผ. ก็ได้เร่งดำเนินการหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้การผลิตก๊าซในอ่าวไทยสามารถเดินหน้าต่อเนื่อง หลังจากที่สัญญาสัมปทานแหล่งเอวัณของเชฟรอนฯ จะหมดอายุใน 23 เมษายน 2565 ดังนั้นกระทรวงพลังงานมั่นใจว่าก๊าซจะไม่ขาด ราคาค่าไฟฟ้าจะไม่แพงขึ้น แต่กรณีที่ไม่สามารถเดินหน้าต่อเนื่องได้กระทรวงพลังงานก็ได้เตรียมแผนสำรองไว้แล้วในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ทดแทนชั่วคราว