ผู้ชมทั้งหมด 111
กกพ. ประกาศผลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนฯ รอบ 2 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 จำนวน 72 ราย รวมปริมาณเสนอขายไฟฟ้า กว่า 2,145 เมกะวัตต์ พร้อมกำหนดลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ใน14 วันสำหรับกลุ่มที่1 และภายใน 60 วันสำหรับกลุ่มที่2
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ลงนามในประกาศเรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม จำนวน 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี 2571-2573 และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ 2569-2573
โดยมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ให้การไฟฟ้าคู่สัญญาแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วันนับถัดจากวันที่ สำนักงานกกพ.ประกาศรายชื่อ
และกลุ่มที่2 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อสถานีไฟฟ้าเดียวกัน ตกลงรูปแบบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายตามหลักการแบ่งปันสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน(Common Facilities Sharing) และยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่ประกาศผลการคัดเลือก
รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกสำหรับพลังงานลม จำนวน 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์
รายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ 2569-2573
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน ออกประกาศ โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามในหนังสือราชการส่งถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องให้ระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เป็นการชั่วคราว
โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีข้อสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)” ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 9 มี.ค. 2566 ปริมาณ 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นการดำเนินการมาก่อนที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเข้ารับตำแหน่ง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นั้น
จากข้อสอบถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ประกอบกับต่อมามีการโต้แย้งของบุคคลภายนอก สอดคล้องกับข้อสอบถามดังกล่าวในบางประเด็น อีกทั้ง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในกรณีดังกล่าวด้วย นายพีระพันธุ์ จึงหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมตามโครงการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
ด้วยเหตุข้างต้น จึงขอให้สำนักงาน กกพ. ระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น และให้ดำเนินการตามหนังสือดังกล่าวโดยด่วนที่สุด
แต่ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ทาง สำนักงานกกพ. ต้องออกประกาศผลการคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าในโครงการฯ ดังกล่าว จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566