ปตท. ปรับขึ้นราคา NGV ทั่วไป 44 สตางค์ต่อกิโลกรัม มีผล 16 ธ.ค. 67 – 15 ม.ค.68

ผู้ชมทั้งหมด 81 

หลังจาก มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ( กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในการปรับหลักเกณฑ์การคิดราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV โดยการนำส่วนต่างราคาดังกล่าวมาช่วยพยุงราคาขายปลีก NGV ไม่ให้มีการปรับขึ้นอย่างทันทีจากราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงปลายปีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 15 ตุลาคม 2567

และนำส่วนต่างคงเหลือมาปรับราคาขายปลีก NGV ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 จนครบวงเงินของส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ  โดยยังคงมาตรการช่วยเหลือจาก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ในกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และกลุ่มรถบรรทุก ตามมติคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 โดยมอบหมายให้ ปตท. รับไปดำเนินการและให้รายงานผลการดำเนินการให้ กบง. ทราบต่อไป

จากมติดังกล่าว ปตท. ได้พิจารณาปรับลดราคา NGV ทั่วไป ลงต่อเนื่อง โดยหากย้อนไปตลอดช่วง 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.- พ.ย.) พบว่า ปตท. ได้เริ่มปรับลดราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปตามกลไกราคาตลาด ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2567 จากระดับราคาสูงสุด อยู่ที่ 19.59 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนมีนาคม 2567 ทยอยปรับลดลงมาต่ำสุดรอบปี 2567 ในรอบวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนเริ่มขึ้นราคาอีกครั้ง ในรอบวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ถึง 15 มกราคม 2568

ล่าสุด ปตท. ประกาศปรับขึ้นราคา NGV ทั่วไป จำนวน 44 สตางค์ต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคา อยู่ที่ 17.90 บาทต่อกิโลกรัม มีผลระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ถึง 15 มกราคม 2568 จากเดือนที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อสะท้อนกลไกต้นทุนราคา ซึ่งในส่วนของราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป ทาง ปตท.จะพิจารณาราคาทุกๆ 1 เดือน

ขณะที่การปรับราคา NGV สำหรับรถโดยสารธารณะ ล่าสุด รอบวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ถึง 15 มกราคม 2568 ราคามีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

กลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ หมวด 1 และหมวด 4 (ไม่รวมรถ ขสมก.) ราคาคงเดิม อยู่ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ หมวด 2 และหมวด 3 ราคาปรับขึ้น 44 สตางค์ต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 17.90 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นราคาที่เท่ากับราคา NGV ทั่วไป 17.90 บาทต่อกิโลกรัม)

อย่างไรก็ตาม ปตท. สนับสนุนส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไปและกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นมูลค่า 18,141 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 30 พฤศจิกายน 2567

โดยที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้ขอความร่วมมือ ปตท. ช่วยตรึงราคา NGV มาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดย ปตท. ได้จัดทำเป็น “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” และช่วยตรึงราคา NGV ไว้ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ใช้ NGV ทุกราย โดยตลอดปี 2564-2566 ปตท. ได้แบกรับภาระค่า NGV ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ในปี 2567 กระทรวงพลังงาน พิจารณาเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศยังชะลอตัว จึงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ช่วยตรึงราคา NGV ต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2568 ดังนั้นทาง ปตท. จึงได้ปรับเปลี่ยนจาก “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” มาเป็น “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” พร้อมกับการปรับเปลี่ยนราคาใหม่

โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป จะไม่ได้รับการช่วยเหลือและต้องซื้อ NGV ในราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะยังได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็มีการขยับราคาจากที่ตรึงไว้ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นเป็น 15.59 บาทต่อกิโลกรัมจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาระ NGV ที่ ปตท. ต้องแบกรับไว้ลดลง เหลือประมาณปีละเกือบ 1,100 ล้านบาท จากเดิม 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) แบกภาระต้นทุน NGV ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท