รฟท. ลงนามรถไฟทางคู่ เฟส2 ขอนแก่น – หนองคาย วงเงิน 2.86 หมื่นล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 51 

เริ่มแล้ว! ทางคู่ เฟส2 รฟท. ลงนามสัญญาสร้างรถไฟทางคู่ ขอนแก่น – หนองคาย วงเงิน 2.86 หมื่นล้าน ส่วนอึก 6เส้นทาง มูลค่ารวมกว่า 2.85 แสนล้าน คาดครม.ไฟเขียว ม.ค.68 ก่อนทยอยเปิดประมูล เม.ย. 68 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่การรรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย กับ กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง มูลค่าโครงการ 28,679 ล้านบาท พร้อมร่วมลงนามในข้อตกลงคุณธรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งทางรางระหว่างภูมิภาค รองรับการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย – ลาว – จีน

นายวีริศ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟส 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย นี้ รฟท.ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่) ระยะที่ 2 และคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.มีมติเห็นชอบให้ รฟท.ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ช่วงขอนแก่น –หนองคาย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งทางราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว 

หลังจากนี้ รฟท.จะเร่งประสานไปยังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เรื่องเงินกู้ที่จะมาใช้ดำเนินงาน ซึ่งน่าจะสามารถกู้เงินได้ประมาณปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค.68 และคาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ได้ในช่วงเดือนเม.ย.68 โดย รฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้าดำเนินงานก่อสร้างได้ประมาณ 90 %  ส่วนอีก10% เป็นพื้นที่เวนคืนในส่วนที่เป็นทางผ่าน ที่จะก่อสร้างเป็นสะพานยกระดับ ( Overpass ) และพื้นที่โค้ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการเวนคืนผูกพัน2ปี (ปีงบฯ68 และปีงบฯ69) วงเงิน 369 ล้านบาท พื้นที่ 184 ไร่

สำหรับรูปแบบโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม และก่อสร้างปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน รวมระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร (กม.)ประกอบด้วย อาคารสถานี 14 สถานี ที่หยุดรถ 4 แห่ง ลานบรรทุกสินค้า 3 แห่ง พร้อมทั้งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3ปี น่าจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 71

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการตามแผนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม กม. โดยโครงการรถไฟทางคู่ระหว่างสถานีขอนแก่น – หนองคายนั้น ถือเป็นการต่อยอดเส้นทางชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น เพื่อเชื่อมโยงกับการบริการขนส่งและโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มความตรงต่อเวลาและความรวดเร็วในการเดินทางด้วยรถไฟ ในรัศมี 500 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ที่สามารถใช้เวลาน้อยลง 1 เท่าตัว รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการเดินทางของประชาชนในอนาคต

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ที่เหลืออีก 6เส้นทางมูลค่ารวม 285,446.97 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท,โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,29.36 ล้านบาท  ,โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่ ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่  ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท คาดว่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติโครงการได้ในเดือน ม.ค.68 จากนั้นจะเตรียมเอกสารการประกวดราคา เพื่อทยอยเปิดประมูลครั้งละ 2เส้นทาง ห่างกันประมาณ 2เดือน โดย 2เส้นทางแรกจะเริ่มประมูลได้ประมาณเดือนเม.ย.68

“รฟท.จะเร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ทั้งโครงข่ายรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ทางคู่ระยะเร่งด่วน ทางคู่สายใหม่ ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูงให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อยกระดับประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”