ผู้ชมทั้งหมด 1,380
กฟผ.ลุยพัฒนายานยนต์อีวี เตรียมนำร่องวินมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า 51 คันในพื้นที่ อ.บางกรวย เปิดตัวเรือไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าหนุนเทรนด์ขนส่งสาธารณะแห่งอนาคต เตรียมปักหมุดสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับขนสาธารณะในอู่รถขสมก. พร้อมเจรจาปตท.ขยายในปั้ม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “E Trans E” (Electric Transportation of EGAT) นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. ว่า การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (ยานยนต์EV) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยปัจจุบัน กฟผ.ได้มีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าแล้วหลายประเภทด้วยกัน ทั้ง รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า และเรื่องไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน และสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ทั้งนี้เพื่อขยายผลในรูปแบบเชิงพาณิชย์ กฟผ. ได้มีการจัดตั้งบริษัท ส่วนการจัดตั้งบริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด โดย กฟผ.มีสัดส่วนถือหุ้น 40% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 30% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 30% เพื่อดำเนินธุรกิจยานยนต์ EV และการซื้อขายไฟฟ้านั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อดำเนินการติดตั้ง และให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในอู่รถเมล์ของขสทก. และยังมีแผนที่จะเจรจากับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station อีกด้วย
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 จากภาคการขนส่ง ล่าสุดได้เปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยเป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร
ทั้งนี้ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือน พ.ย.63 โดยในเบื้องต้นจะนำร่อง 51 คันเป็นวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อทดลองวิ่งให้บริการนั้นจะใช้ระยะเวลาในการทดลอง 14 เดือน เพื่อนำมาประเมินและเปรียบเทียบกับรถมอเตอร์ไซต์ที่ใช้น้ำมัน เพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่นั้นสามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรีได้ และยังมีระบบชาร์จที่บ้าน พร้อมด้วยระบบมิติเตอร์
นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้า จำนวน 2 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 คน ซึ่งในระยะแรกจะทดสอบการเดินเรือเพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของ กฟผ. ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคต และมีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า กฟผ. ได้นำรถยนต์เก่าใช้แล้วมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยชุด EV Kit ที่ กฟผ. และ สวทช. ร่วมกันพัฒนาขึ้น ให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รวมถึงการดัดแปลงรถเมล์เก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้วของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 100-250 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร ความเร็วสูงสุดมากกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 80 คน และจะนำไปใช้ทดสอบเดินรถจริงในเส้นทางสาย 543ก (ท่าน้ำนนทบุรี – อู่บางเขน)